ครูบาไปค้นเจอในพระไตรปิฎก ในพระสุตตันตปิฎกมาอันหนึ่งคือ ‘อุตริมนุษธรรมสูตร’ ท่านบอกไว้เลยว่า ‘คนที่สมควรจะบรรลุธรรม ต้องละธรรม 6 ประการ’ มี 6 ประการที่ต้องละ
ข้อแรกที่ท่านบอกว่าต้องละ คือ ‘(1) ละการขาดสติ’ ตัวแรกเลยสำหรับใครที่อยากจะบรรลุธรรม ต้องละการขาดสติให้ได้ เพราะว่าถ้าเราขาดสติคุณงามความดีต่างๆ ไม่เกิดขึ้น เพราะว่ากิเลสมันจะบงการให้เราทำตามใจของเราที่เป็นฝั่งอกุศลส่วนใหญ่ จะทำให้ลืมกายลืมใจหรือว่าทำให้ก่อเวรก่อกรรมกันมากขึ้น บางครั้งก็ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่าน บางครั้งก่อให้เกิดความเศร้าหมองของจิตใจ ถ้าเราชอบคนนี้ก็รัก เกลียดคนนี้ก็โกรธเขา ไม่ชอบเขา ไปว่าร้ายเขา ใจนะมันไม่มีสติเนี่ยมันก็ทำตามใจกิเลส พอทำตามใจกิเลสแล้วก็ต้องมีวิบากคือความเศร้าหมองของใจ โดยเฉพาะถ้าผิดศีลด้วยอันนี้ยิ่งเศร้าหมองไปใหญ่ จิตที่เศร้าหมองไม่สามารถที่จะภาวนาได้ง่ายๆ หรอก เพราะว่ามันเหมือนถูกเคลือบไปแล้วด้วยสิ่งที่แต้มด้วยสีต่างๆ ไม่ใช่ความสะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้น ‘การมีสติ’ เป็นข้อแรกเลยที่ท่านบอกให้ละสิ่งที่ขาดสติไป
ข้อต่อไปก็คือต้องเป็นผู้ที่ ‘(2) ละการขาด ไม่มีสัปชัญญะ’ ‘สัปชัญญะคือรู้ เป็นปัญญา’ รู้ว่าอะไรมีประโยชน์ รู้ว่าอะไรควรแก่เรา มีประโยชน์นะ สมถะวิปัสสนามีประโยชน์นะ แต่สมถะวิปัสสนาแบ่งได้เยอะ สมถะคร่าวๆ ก็ 40 นะ วิปัสสนาก็การเจริญสติปัฏฐานนี่ก็มี 4 หมวด กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ละคนก็ต้องเลือกกรรมฐานที่ถูกจริตกับเรา ทั้ง 2 อย่างมีประโยชน์ แต่ตัวที่มีความเหมาะสมกับเรามีอยู่ไม่เท่าไหร่หรอก
อย่างครูบาเองนะหลวงพ่อให้ดูกระดูก ทำสมถะก็ดูกระดูก ดูกระดูกนี่อยู่ในกายคตาสติ อยู่ในอนุสติ 10 อันนี้ท่านให้ดูกระดูกไปเรื่อยๆ ดูกระดูกไปเรื่อยๆ ใจก็มีสมาธิ แล้วพอใจมีสมาธิพอ ท่านให้ครูบาไปเจริญปัญญา เขาเรียกว่าไปฉีกกระดูกก็ได้ ไประเบิดกระดูกก็ได้ ไปเผากระดูกก็ได้ ท่านให้เลือกเอา ครูบาก็ไประเบิดมัน คือพอมีสมาธิพอก็กำหนด ไม่ได้กำหนดหรอก…ก็คือไปรู้กระดูกส่วนต่างๆ แล้วค่อยๆ ระเบิดมันเป็นส่วนๆ พอระเบิดมันเป็นส่วนๆ มันเห็นว่ามันไม่มีตัวคน บุคคล เรา เขา อะไรอย่างนี้ มันค่อยๆ เห็นว่ามันไม่มีอะไรเลย พอระเบิดไปนั้นมันก็มีความว่างเปล่า ไม่มีตัวเราอยู่ในนั้นอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นการเจริญปัญญา
อันแรกรู้ รู้ว่าอะไรมีประโยชน์ รู้ว่าอะไรเหมาะสมกับเรา พอรู้แล้วก็ต้องมารู้เนืองๆ ที่หลวงพ่อบอกว่าต้องมาเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือเรามีเครื่องอยู่ของเรา แล้วเรามาเจริญสติในชีวิตประจำวัน ทำแบบนี้ อย่างครูบาก็ดูกระดูกไปในชีวิตประจำวันนี่เแหละ การยืน เดิน นั่ง นอนก็เห็นกระดูกเดิน ยืน เดิน นั่ง นอนอะไรไป หลงไปคิดก็ลืมกระดูกไป รู้ก็รู้ใจว่าหลงไปคิด บางครั้งเราอยากภาวนา เอ๊ะ…อยากภาวนานะก็มาเพ่งที่กระดูก ก็รู้ว่าใจถลำไปที่กระดูก อันนี้ใจก็ไม่ตั้งมั่น ถ้าเรารู้ได้ในประจำวันนะ มันก็คือเรารู้ได้ตลอดแล้ว พอมีเวลาก็ทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบครูบาก็ใช้กระดูกเหมือนเดิม ก็รู้กระดูกไปเรื่อยๆ ให้กระดูกเป็นอารมณ์…อารมณ์เดียว มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อันนี้ก็เกิดสมาธิขึ้นมา ใจก็มีความสุขความสงบขึ้นมาได้ การดูกระดูกของครูบาก็ใช้ได้ทั้งการทำสมถะ แล้วก็ใช้ในการเจริญวิปัสสนาได้ แล้วพอรู้แล้ว…ก็รู้ไม่หลงไม่เผลอ ถ้าหลงไปก็รู้ทัน เผลอไปก็รู้ทัน เพ่งไว้ก็รู้ทัน อันนี้เป็นตัวสัมปชัญญะ ดังนั้นหนึ่งคือ (1) ละความขาดสติ (2) ละความไม่มีสัมปชัญญะ อันนี้จะเป็นเหตุที่ทำให้เราควรแก่การบรรลุธรรมได้
ข้อต่อไปนะข้อที่ 3 คืออินทรีย์ ต้องเป็นผู้ที่เขาเรียกว่า ‘(3) ละการไม่สำรวมอินทรีย์’ หมายความว่ายังไง คือเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ คอยมีสติรู้ทันความยินดียินร้ายของใจ ถ้าเราไม่รู้ทันนะเราปล่อยปละละเลยไม่สำรวมนะ พอยินดียินร้ายเกิดขึ้นไม่สำรวมไม่รู้ทัน ก็เกิดความชอบไม่ชอบขึ้นมา ใจไม่เป็นกลางแล้ว ไม่ชอบ…ใจไม่เป็นกลางก็เกิดกิเลสขึ้นมา ชอบก็ดึงเข้าหา เกลียดก็ผลักออกไปอะไรอย่างนี้…ใจไม่เป็นกลาง พอใจไม่เป็นกลาง เราจะห่างไกลต่อการบรรลุมรรคผล เพราะว่าอย่างที่หลวงพ่อบอกในขั้นเจริญวิปัสสนาคือท่านสอนหลักไว้สั้นๆ ‘มีสติ รู้กาย รู้ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง’
ตรงที่เราสำรวมอินทรีย์แล้วเราไม่ยินดีไม่ยินร้ายคือรู้ทันมันนะ ใจจะค่อยๆ เข้าสู่ความเป็นกลางขึ้นมาได้ ที่หลวงพ่อสอนนะครอบคลุมตั้งแต่สติ สัมปชัญญะ แล้วก็การสำรวมอินทรีย์ด้วย ถ้าเราละธรรม 3 อย่างนี้ก็เป็นเหตุใกล้ที่จะบรรลุ
อีกอันหนึ่ง ข้อต่อไปที่พวกเราต้องเป็นฆราวาสนะมันก็ยากอยู่ คือเป็นคนที่ต้อง ‘(4) ละความไม่ประมาณในอาหาร’ คือคนที่กินมาก กินมากไปก็แน่นใช่ไหม อืด สติสมาธิไม่มีหรอก มีแต่อะไร…มีแต่ความง่วงเหงาหาวนอนใช่ไหม ซึม เพราะว่าเลือดมันไปเลี้ยงกระเพาะหมดแล้ว หรือถ้ากินน้อยไปนะจิตก็ฟุ้งซ่าน ไม่มีแรง ไม่มีแรงก็มาภาวนาไม่ได้ อันนี้มันต้องรู้จักประมาณในตัวเอง
ครูบาเมื่อก่อนเคยทำงานหนัก ตอนเป็นสัตวแพทย์ทำงานมันหามรุ่งหามค่ำ บางครั้งนะเพื่อนที่ร่วมงานก็เอ่อ…เราก็เรียกว่าเชื่อมความสัมพันธ์ไว้บ้าง อาทิตย์นึงก็ไปกินบุฟเฟ่ต์สักทีนึง ไปกินเราก็ชอบแหละ ชอบกินนะ แต่เป็นบุฟเฟ่ต์มันจ่ายเงินไปแล้วมันกินไม่อั้นใช่ไหม ก็เสียดายก็กินเยอะหน่อย พอกินเยอะหน่อยมันก็แน่นท้องไป พอแน่นท้องปุ๊บทำไง กลับมานะอยากจะนอนแล้ว เนี่ยข้อที่เราไม่รู้จักประมาณในอาหาร มันส่งผลต่อการภาวนามากๆ ทำให้เราง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ ถ้าน้อยไปก็ฟุ้งซ่านเพราะว่ามันหิวเกินไป
อย่างพระเองก็ต้องรู้จักประมาณ ตอนก่อนฉันท่านก็ต้องให้เตือน เรียกว่า ‘ปัจจเวกขณะ’ คือเตือนว่าเราฉันอาหารไปเพื่ออะไร เพื่อให้เราดับเวทนาเก่าก็คือความหิวนะ ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดก็คือความหิวนั่นแหละ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง ไม่ใช่แบบกินแล้วให้ดูอวบอิ่มนะ ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลินอะไรอย่างนี้ พระยังต้องพิจารณาเลย พวกเราก็ต้องกินพอสมควรนะ ถ้าอยากจะเป็นนักภาวนาอยากจะบรรลุธรรม ท่านก็บอกไว้ว่าต้องละการไม่ประมาณในอาหาร
ข้อต่อไปเป็นเรื่องการพูดนะ คือ ‘(5) ถ้าไม่ละการพูดโกหกเราก็จะบรรลุธรรมไม่ได้’ แปลกเหมือนกันมาลองดูแล้วก็เอ่อ…แต่โกหกนะมันอยู่ในเรื่องอะไร อยู่ในเรื่อง ‘ศีล’ โกหกท่านบอกว่าต้องใช้หน่วยความจำเยอะในการจำว่าเราคุยกับคนนี้ยังไง คุยกับคนนี้ยังไง พอคุยไปถ้าเขาเกิดความระแคะระคายอะไรอย่างนี้ แล้วเกิดระแวงเรา เราก็มีใจที่ระแวงแล้ว ใจก็ไม่สงบสุขแล้ว พอใจไม่สงบสุขนะภาวนาก็ไม่ได้ ท่านเอาเรื่องพูดมา เรื่องโกหกเป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอยู่เหมือนกันว่า ท่านไม่เห็นคนที่พูดโกหกแล้วไม่สามารถที่จะทำอกุศลใหญ่ๆ ขึ้นมาได้ แค่พูดโกหกมันเป็นจุดเริ่มต้น ถ้าเราไม่ระวังเราก็สามารถพูดให้มันส่อเสียดหรือว่าไปทำร้ายคนนู้นคนนี้ได้ แค่ปากเรายังไปทำร้ายคนอื่นได้ใช่ไหม และร่างกายเราจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้เหรอ มันก็ทำได้นะ อันนี้ 5 ข้อแล้ว
ข้อสุดท้ายนะที่เราต้องละ คือ ‘(6) ต้องละการพูดเลียบเคียง’ ท่านบอกไว้พูดเลียบเคียงคือเราอยากได้ของอะไรอย่างนี้ เราไปพูดเลียบๆ เคียงๆ อย่างตอนเด็กๆ เราเคยอยากกินของเพื่อนไหม เอ่อ…อันนี้อะไรอ่ะ…อร่อยไหมอะไรอย่างนี้ ใจคืออยากได้ อยากได้ของเขาแล้วก็พูดออกมา คำพูดทำให้เราผิดพระธรรมวินัย เป็นพระถ้าไปพูดเลียบเคียง ถ้าของที่ได้มาต้องสละออก ถ้าไม่สละของนั้นยังใช้อยู่นะ อันนี้จะติด จะทำให้ขัดขวาง ที่จะทำให้เราไม่สามารถเจริญในทางธรรมให้ได้มากขึ้น ยิ่งขึ้นไป ต้องสละออก
ดังนั้น 6 ข้อ ถ้าเราละนะ
(1) ไม่มีสติ ละความไม่มีสติ
(2) ละความไม่มีสัมปชัญญะ
(3) ไม่สำรวมอินทรีย์
(4) ละการประมาณในอาหาร
(5) เป็นคนโกหก
แล้วก็ข้อสุดท้าย (6) คือ ผู้เลียบเคียง
ถ้าเราละธรรม 6 อย่างได้นะ เป็นผู้สมควรที่จะบรรลุธรรม อันนี้ท่านสอนไว้ เป็นธรรมะที่ครูบาอ่านแล้วแปลกดีก็เลยมาเล่าให้พวกเราฟัง
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญข้อแรกเลยคือ ‘การมีสติ’ นี่แหละ ถ้าเรามีสติ ข้ออื่นๆ ก็จะตามมา ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้ว่าอะไรควรแก่เรา อะไรมีประโยชน์ อะไรควรแก่เรานะ ควรแก่เราแล้วต้องรู้เนืองๆ ทำเนืองๆ ฝึกเนืองๆ อยู่กับกรรมฐาน ถ้าเราจะมีสติได้ก็ต้องมีวิหารธรรม จะมีวิหารธรรมได้นะ เราก็เลือกที่ถูกจริตที่เราอยู่แล้วสบาย คงไม่ได้แบบว่าสบายลั้ลลาอะไรขนาดนั้น แต่อยู่ไปไม่เครียดเกินไป แล้วก็ไม่หลงเกินไป บางคนอยู่กับพุทโธไปมันหลงง่าย ก็อาจจะต้องใช้ร่างกายช่วยด้วยอะไรอย่างนี้นะ อย่างครูบาเป็นพวกที่หลงเยอะคือใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ชอบออกนอก ชอบสนใจคนอื่น หลวงพ่อเลยให้ดูกระดูกนะ พอดูกระดูกไปเรื่อยๆ ใจชอบ พอชอบ ใจมันก็ถูกจริต ใจจะอยู่กับกระดูก เคล้าเคลียอยู่กระดูก ใจก็ค่อยๆ มีความสุขนะ
ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ใจก็ค่อยๆ มีสมาธิตั้งมั่นขึ้นมาได้ง่ายนะ อันนี้เราต้องมีสติ จะช่วยทำให้เรามีสัมปชัญญะ ตัวสติกับสัมปชัญญะเขาจะมาร่วมคู่กัน ตัวสัมปชัญญะเป็นปัญญา เป็นปัญญาว่าเราทำไปไม่หลงไม่เผลอคือปัญญาแล้วนะ ถ้าเรามีสติเราก็จะสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์อะไรไป แล้วเรารู้ทันปฏิกิริยาของใจที่มันยินดียินร้าย ถ้าเรารู้ทันได้ใจก็เข้าสู่ความเป็นกลาง แค่มีสตินะ 3 ข้อก็มาแล้ว
มีสติแล้วเรารู้ทันว่า อุ้ย…ใจอยากกินนะ อยากกินเยอะๆ อะไรอย่างนี้ ไม่ประมาณในอาหารอะไรอย่างนี้ ถ้าเราอยากจะเจริญในธรรมนะ กินพอสมควร นอนพอสมควร อันนี้มันจะช่วยทำให้เราภาวนาได้ง่าย การมีสติก็จะรู้แล้วว่า เอ้ย…มันอยากเกินไปแล้ว ถ้าเรารู้ทันความอยากนะ ถ้าเรารู้ด้วยใจที่เป็นกลางความอยากก็ดับแล้ว กินตามที่จำเป็น กินมากไปก็แน่นท้อง กินน้อยไปก็ฟุ้งซ่านไป ไม่มีแรงมาภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิก็อาจจะไม่ไหวอะไรอย่างนี้ ก็ดูเอาของแต่ละคนนะ พอมีสติก็รู้ทันใจแล้วว่าใจมันอยากจะพูดปดไหม มันอยากไปหลอกลวงเขาไหม ถ้าเรารู้ทันนะใจที่มันอยากหลอกลวงมันก็ดับ ตัวสติสำคัญมากๆ เลย
สุดท้ายนะถ้าเรารู้ทันใจมีสติไปเรื่อยๆ เรารู้ทันว่า เฮ้ย…เราอยากได้ของเขาอ่ะ ความอยากมันเกิดขึ้น อยากจะพูดเลียบเคียง รู้ทันไป…คำพูดเลียบเคียงมันก็ไม่ออกมา แค่มีสติที่หลวงพ่อสอนนะทำให้คุณงามความดีต่างๆ เจริญงอกงาม มีสติท่านก็บอกแล้ว มีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา ถ้าเรามีสติได้บ่อยๆ อกุศลที่ยังไม่เกิด…ก็ไม่เกิดนะ อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว…ก็ดับไป เพราะว่าพอเรามีสติ ตัวสติเป็นตัวกุศล ถ้าเราเห็นใจที่มันหลงไป แล้วเรารู้ทันใจที่มันหลง…ความหลงดับ ความรู้เกิดขึ้นมาคือพอมีสติเกิดขึ้นมาอกุศลดับไปอัตโนมัติ ตัวกุศลก็เจริญขึ้นจากที่ไม่มีกุศลนะ กุศลก็เจริญ บางคนมีกุศลอยู่แล้วมีจิตที่ดีอยู่แล้วมันก็ยิ่งงอกงามขึ้นไปง่าย อันนี้ก็มีความเพียรแล้ว แค่ฝึกสติคุณงามความดีต่างๆ มามากมายเลย แต่พวกเราละเลย พวกเราจะไปชินว่าจะเดินยังไง จะไปนั่งยังไง จะนั่งท่าไหนจะเดินท่าไหน อันนี้เราไปเน้นที่เปลือกนะ หรือว่าบางคนเห็นหลวงพ่อท่านสอนดูจิตอะไรอย่างนี้นะ ส่วนใหญ่ก็ไปจะดูจิตยังไง จะทำจิตยังไงให้ถูก ทำจิตยังไงให้ดีอะไรอย่างนี้ คือจะไปปรุงแต่งจิต คือถ้าเราไม่มีสตินะ เราก็จะไปทำนู่นทำนี่ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่กว่าเราจะเข้าใจนะว่าที่เราทำอ่ะมันผิด ก็ต้องอาศัยเรียนรู้สิ่งที่ผิดนี่แหละ
คอยมีสติรู้ทันไปเรื่อยๆ มันค่อยเข้าสู่ทางสายกลางที่ถูกขึ้นมาได้ จากเดิมที่เราหลงตามใจกิเลสนะ พอเรามีสตินะเราก็เข้าสู่ความสายกลางได้ จากเดิมนะที่เราหลงไปเพ่ง หลงไปบังคับตัวเอง ถ้าเรามีสติรู้ทัน ใจก็เข้าสู่ทางสายกลางได้ ดังนั้นถ้าเราฝึกสติสำคัญนะ ท่านเน้นย้ำมากๆ ‘การมีสติคือการที่เรามาเรียนรู้สภาวะ สภาวธรรมในกายในใจเรานั่นแหละ’
พระธนุสรณ์ จิรสรโณ (ครูบาม่อน)
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
3 พฤศจิกายน 2567
ณ บ้านจิตสบาย
©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ที่มาคลิป: https://youtu.be/d3osK_HWDfo?si=WAVi5ICAjgbG7PYT
#คนที่สมควรจะบรรลุธรรม #ละธรรม6ประการ #อุตริมนุษธรรมสูตร #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงพ่อปราโมทย์ #พระธนุสรณ์จิรสรโณ #พระธนุสรณ์ #ครูบาม่อน #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงปู่ปราโมทย์ #ละการขาดสติ #ละการไม่มีสัปชัญญะ #ละการไม่สำรวมอินทรีย์ #ละความไม่ประมาณในอาหาร #ละการพูดโกหก #ละการพูดเลียบเคียง #กิเลสบงการให้ทำตามใจของเรา #ทำตามใจกิเลส #อกุศล #สมถะวิปัสสนา #เจริญสติปัฏฐาน #กายเวทนาจิตธรรม #ไม่มีตัวเรา #การเจริญปัญญา #กายคตาสติ #สัปชัญญะ #มีสติ #เจริญสติในชีวิตประจำวัน #มีสติรู้ทันความยินดียินร้ายของใจ #มีสติรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง #รู้ทันสภาวะ #รู้จักประมาณในตัวเอง #ปัจจเวกขณะ #วิหารธรรม #กรรมฐานดูกระดูก #ภาวนา #รู้ด้วยใจเป็นกลาง #ตัวสติ #เข้าสู่ทางสายกลาง #กุศลงอกงาม #หลงไปเพ่ง #หลงไปบังคับตัวเอง #มีสติรู้ทัน #เรียนรู้สภาวะ #สภาวธรรมในกายในใจ #บ้านจิตสบาย