พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ

จิตตั้งมั่นพร้อมเดินปัญญา

วันที่ 7 เมษายน 2567  

ฉะนั้นอยากฝากพวกเรา เวลาเราฟัง เวลาเราฝึกกรรมฐาน ถ้าเรายังเพ่งจ้องอะไรอยู่ ส่วนใหญ่จิตมันจะไหลไปที่อารมณ์ จิตมันไม่ตั้งมั่น ตัวนี้เป็นสภาวะที่ฝึกยากมาก ที่คุยกับหลวงพ่อกันมานะ ส่วนใหญ่นักปฏิบัติที่จะขึ้นมาถึงตัวนี้ได้หายาก ถ้าขึ้นมาถึงตัวนี้ได้นี่มันมีจิตที่ตั้งมั่นที่สมบูรณ์แล้ว ที่จะพร้อมเดินปัญญาแล้ว นักปฏิบัติส่วนใหญ่ใจมันจะออกนอกเวลาเราดูสภาวะ อย่างเวลาดูร่างกายส่วนใหญ่ใจมันก็จะไหลไปแปะที่ร่างกาย หรือว่าเราท่องพุทโธ ใจก็ไหลไปแปะที่พุทโธ หรือเราดูลมหายใจ ใจมันก็จะไปแปะอยู่ที่ลมหายใจ มันไม่เกิดจิตที่มันตั้งมั่นขึ้นมาได้

ตอนที่หลวงพ่อท่านภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ท่านชำนาญแล้วนะ เก่งแล้ว ท่านออกไปตระเวนดูตามสำนักต่างๆ ท่านพบว่าสำนักต่างๆ ที่สอนนี่มันไม่มีจิตผู้รู้ มันไม่มีจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมา พอไม่มีจิตที่รู้สึกตัวตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา มันไปทำวิปัสสนาไม่ได้ พอมันไปทำวิปัสสนาไม่ได้ ผลที่ได้มามันไม่ล้างกิเลสหรอก เพราะฉะนั้นกว่าพระอาจารย์จะฝึกมาจนเห็นเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลานานนะใช้เวลาเป็นปีๆ เหมือนกัน พอเรามีตัวนี้ขึ้นมาได้แล้ว เข้าใจแล้ว อ๋อ…การภาวนาที่แท้ปกติเวลาเราดูแล้วใจมันถลำไป ใจมันไม่ตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู มันก็เลยไปสู่ขั้นเจริญปัญญายังไม่ได้ ตัวนี้นะจะว่าฝึกยากก็ฝึกยากนะ แต่ว่าถ้าคนที่มีบารมีฝึกไม่ยากหรอก

อย่างหลวงพ่อปราโมทย์ท่านเล่าให้เราฟังบ่อยๆ นะ ว่าตอนที่ท่านฝึกตั้งแต่ 7 ขวบใช่ไหม ท่านได้สมาธิแล้วตอนนั้น ท่านให้สมาธิอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว แต่ว่าท่านบอกว่าตอน 10 ขวบ ไฟมันไหม้ข้างบ้าน ท่านเห็นแล้วมันเกิดจิตที่มันตกใจ ตอนนั้นท่านยังไม่เห็นหรอกว่าก้าวที่ 1 ยังตกใจ ก้าวที่ 2 ยังตกใจ ก้าวที่ 3 ท่านเห็นจิตที่มันตกใจนะ ความตกใจมันดับไป เกิดจิตผู้รู้ตั้งมั่นขึ้นมา ตอนนั้นใจก็สงบนิ่งนะ แล้วก็รีบวิ่งไปบอกที่บ้านว่าไฟไหม้ แต่ว่าจิตท่านเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา

ที่ท่านเล่าให้เราฟังบ่อยๆ ตัวนี้ถ้าเราฝึกได้นะเราหัดดูสภาวะไป ถ้าวันไหนเราไม่ได้เจตนา ไม่ได้ไปนั่งเฝ้ากรรมฐานของเรา เราฝึกของเราไปสบายๆ เห็นกิเลสมันเกิดขึ้นมาแล้วสติไประลึกรู้ได้นะ กิเลสมันดับไปตอนนั้นมันจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมาอัตโนมัติเลย ตอนนั้นที่พระอาจารย์ฝึกแรกๆ ที่เล่าให้ฟังว่า เราฝึกเจริญสติของเราถูกแล้ว มันเริ่มเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาแล้ว แต่พระอาจารย์ยังจับเคล็ดลับมันไม่ได้ ตอนนั้นก็ฝึกไปธรรมดาอย่างนี้แหละ ฝึกไปงูๆ ปลาๆ คิดว่ามันไม่ค่อยได้ผลอะไรนะ แต่บางทีพอเราฝึกไป ตอนไปทำงานไม่ได้ฝึกหรอก ตอนทำงานก็ทำงาน บางทีลูกน้องมาพูดอะไร โทสะมันพุ่งขึ้นมา สติระลึกรู้ของมันเองนะโทสะดับไปเลย ตัวนี้พอกิเลสดับ มันได้จิตผู้รู้ขึ้นมา แต่เรายังจับเคล็ดลับตัวนี้ไม่ได้ พอเราไปภาวนาผิดจิตออกนอก จนวันหนึ่งเราไม่ภาวนา ไม่ภาวนาก็คือไม่ได้ส่งจิตไปเพ่งอารมณ์ไว้ที่ใดที่หนึ่ง ใช้จิตปกติของมนุษย์ ที่หลวงพ่อสอนพวกเราบ่อยๆ ว่า “เวลาภาวนาใช้จิตปกติของมนุษย์ ไม่ได้ใช้จิตผิดปกติ”

ส่วนใหญ่เวลาเราไปภาวนาแล้วพอเราเริ่มจะภาวนามันก็ไปดัดแปลงกายดัดแปลงใจ จิตเราก็ผิดปกติ จิตที่ผิดปกติตัวนี้ จะฝึกให้มันตื่นค่อนข้างยาก  จิตปกติของเราเป็นไง จิตปกติของเรานะ บางคนมันก็ฟุ้งไปทางนู้น ฟุ้งไปทางนี้ คิดเรื่องนู้นคิดเรื่องนี้ แต่ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันไปเรื่อยๆ  กิเลสมันดับไป มันจะเกิดจิตที่รู้สึกตัวตั้งมั่นขึ้นมาได้ แต่ว่าพื้นฐานมันต้องมีสมาธิระดับหนึ่ง แต่ตอนฝึกจริงๆ ช่วงแรกจะเพ่งไว้เป็นพื้นก่อน อันนี้เป็นเรื่องปกติ ที่พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า พอพระอาจารย์ไปอยู่กับหลวงพ่อ ตอนนั้นเราฝึกไปแล้วไปเห็นสภาวะละเอียด สภาวะไหวๆ หลวงพ่อบอกให้ดูไปก่อน ตอนที่ดูตอนเนี้ยมันเป็นสมถะนะ เป็นอารัมมณูปนิชฌาน จิตยังไปเพ่งจ้องอยู่กับอารมณ์ เหมือนๆ พระที่เข้ามาฝึกในวัด ส่วนใหญ่เขาก็จะยังมีความจงใจที่จะดูตัวนี้มันจะได้อารัมมณูปนิชฌานจะได้สมาธิขึ้นมา 

ถ้าเปรียบเทียบกันอย่างเราอยู่ในเมืองใจเราฟุ้งซ่านเยอะ ใจฟุ้ง ดูสภาวะอะไรไม่ออก พอมาบวช หลวงพ่อจะให้ทำกรรมฐานอันหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็คือเพ่งจ้อง แต่ว่าหลวงพ่อจะไม่ให้เพ่งจ้องแรงๆ อย่างคนเพ่งจ้องแรงๆ ใจแน่นๆ เครียดๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ แต่ดูไปสบายๆ ดูไปสบายๆ ตอนที่มันดูสบายๆ ใจยังออกนอก แต่ว่าถ้าเราดูได้ต่อเนื่องมันได้สมาธิขึ้นมา ตอนที่หลวงพ่อให้พระอาจารย์ไปดูไหวๆ จิตมันออกนอกแต่พระอาจารย์ดูแบบสบายๆ ไม่ได้ไปเพ่งจ้องมัน พอดูไปสบายๆ ไปเรื่อยๆๆ เป็นเดือนๆ นะ มันได้สมาธิขึ้นมา พอมีพื้นฐานของสมาธิดีแล้ว หลวงพ่อท่านจะบอกเลยว่า ของคนอื่นนะท่านจะบอกว่า “เออ…ตอนที่ไปดูอ่ะใจมันออกนอกรู้ไหม” แต่ของพระอาจารย์ท่านไม่ได้พูดอย่างนั้น ท่านถามว่า “ไปดูมันทำไม” พระอาจารย์ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมหลวงพ่อถึงถามว่าไปดูมันทำไม เพราะเป็นคนอื่นเท่าที่อยู่กับท่านมา ท่านจะบอกว่าใจออกนอก หลงไป ใจมันไหลไปเห็นไหม แต่ของพระอาจารย์หลวงพ่อบอกว่าไปดูมันทำไม แล้วแทนที่หลวงพ่อจะสอนต่อ ท่านบอกนะไปดูเอาเองให้ไปภาวนาเอาเอง

พอเราไปภาวนาเอาเองก็เลยเห็นจริงๆ อ๋อ…ที่แท้เวลาเราดูใจมันไหลไป ดูร่างกายใจก็ไหลไปที่ร่างกายดูนามธรรมใจก็ไหลไปที่นามธรรม แต่ทันทีที่เรามีสติรู้ทันจิตที่มันไหลไป จิตที่ไหลดับ มันเลยเกิดสมาธิอีกตัวขึ้นมา แต่สมาธิตัวนี้มันเกิดได้ทีละขณะ เพราะมันเป็น ‘ขณิกสมาธิ เป็นจิตตั้งมั่นที่เกิดทีละขณะๆ’ ถ้าเรามีพื้นฐานสมาธิดีอยู่แล้วนะ ใจไม่ฟุ้งซ่านตัวนี้มันจะเกิดได้บ่อย ‘ไหลไปแล้วรู้ทัน จิตที่ไหลดับ เกิดจิตที่รู้สึกตัว จิตที่รู้สึกตัวดับ เกิดจิตที่ไหลไป มันจะเห็นจิตเกิดดับได้’ พอเราฝึกได้จิตผู้รู้ตัวนี้แล้ว ต่อไปก็ถึงคราวที่เราต้องมาฝึก ‘เดินปัญญา เพื่อให้เห็นความจริงของร่างกายจิตใจ’ จริงๆ ร่างกายจิตใจของเรา มันไม่เที่ยง มันทนอยู่ในสภาวะเดียวไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไปเข้าใจว่าร่างกายมันเที่ยง

เขาเรียกว่ามี ‘สัญญาวิปลาส’ สัญญาวิปลาส อันหนึ่งที่พวกมนุษย์ติดกันมากเลยนะ คือเห็นว่าร่างกายเรามันสวยมันงาม ส่วนใหญ่จะไม่มีคนยอมคิดว่าตัวเองไม่หล่อ ไม่สวย ไม่งาม ส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองสวยงามหล่อ อันนี้คือเป็นความเห็นผิด ‘เห็นผิดว่าของที่ไม่งามว่างาม’ เพราะจริงๆ แล้วร่างกายเต็มไปด้วยอสุภะ ถ้าเคยฟังเทศน์หลวงพ่อบ่อยๆ ร่างกายเรานี้เต็มไปด้วยของไม่สวยไม่งาม 

ในสมัยพุทธกาล พระท่านบอกว่าในร่างกายเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีรูรั่วใหญ่ๆ 9 รู รูเล็กๆ อีกนับไม่ถ้วนเลย ข้างในบรรจุไปด้วยของโสโครกของสกปรกแล้วก็ไหลชุ่มออกมาเป็นนิด อันนี้คือนิยามของร่างกาย แต่ว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าร่างกายมันสวยมันงาม อีกอันหนึ่งที่เรา ‘เห็นคาดเคลื่อน ก็คือ เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง’ อย่างร่างกายเนี่ยมันไม่เที่ยงหรอก อย่างในวงการวิทยาศาสตร์ก็พูดอยู่บ่อยๆ นะว่าเซลล์ในร่างกายเกิดตายอยู่ตลอดเวลา มันไม่เที่ยง อย่างเราดูง่ายๆ นะ ตอนนั้นสมัยเรียนนักธรรมเอกบอกให้ดูร่างกาย ร่างกายไม่เที่ยง ถ้าดูอย่างหยาบๆ นะ ดูตั้งแต่ร่างกายเกิดขึ้นแล้วก็ตายไป เหมือนที่เราไปงานศพ ที่พระท่านชักบังสุกุล 

“อนิจฺจา วต สังฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติเตสํ วูปสโม สุโข สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสิ้นไป เกิดขึ้นแล้วดับไป สังขารสงบเสียได้เป็นสุข”

 ในตำราบอกว่าพิจารณาร่างกายเกิดแล้วก็ดับ พิจารณาอย่างหยาบ แต่ว่าพระที่ท่านพิจารณาองค์นี้ ท่านพิจารณาเสร็จท่านก็เป็นพระอรหันต์เลยนะ แต่เวลาไปพิจารณาเองคงยังไม่เป็น ท่านก็บอกว่าถ้าจะดู ‘อนิจจัง’ อย่างละเอียดขึ้นมานะ ก็ให้ดูเป็นเรื่องชั้นของวัย ในภาษาเขาเขียนชั้นของวัยหมายความว่าตอนเด็กก็อย่างหนึ่ง โตขึ้นอย่างหนึ่ง ตอนเป็นวัยรุ่นก็อย่างหนึ่ง ตอนเป็นผู้ใหญ่ก็อย่างหนึ่ง ตอนแก่ก็อย่างหนึ่ง ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไป มันไม่เที่ยง ตอนเด็กก็ไม่เที่ยง เกิดเป็นวัยรุ่น ตอนวัยรุ่นก็ไม่เที่ยง เกิดเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เที่ยงนะ เกิดเป็นคนแก่ดูร่างกายมันไม่เที่ยง อันนี้ดูอย่างกลาง ถ้าอยู่อย่างละเอียดที่ในตำราบอก “ดูเลยว่าเห็นร่างกายมันเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ” ถ้าเราฝึกนะค่อยๆ ดูไปก็เห็นได้

อย่างเราเห็นเลยร่างกายหายใจออกเกิดแล้วก็ดับ ร่างกายหายใจออกก็ตายไปแล้วเกิดร่างกายหายใจเข้า ร่างกายหายใจเข้าก็ตายไปแล้วเกิดร่างกายหายใจออก รูปแต่ละรูปคนละรูปกันแล้ว อย่างรูปยืนก็รูปหนึ่งรูปยืนก็ผ่านไปเกิดรูปนั่ง รูปนั่งผ่านไปเกิดรูปนอนอะไรอย่างนี้นะ แต่ละรูปมันก็ไม่เที่ยง ถ้าเราดูเห็นความจริงถ้าเรามี ‘สติ’ เรามี ‘สัมมาสมาธิ’ อยู่ เราไปดูร่างกายจะเห็นเลยว่า รูปมันก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงของมันไปเรื่อยๆ แต่ว่าตัวเกิดดับของรูปดูค่อนข้างยาก

ที่จะดูง่ายนะว่าร่างกายทนอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้ ร่างกายเป็นทุกขัง อย่างเรานั่งอยู่ร่างกายเป็นทุกข์ไหม…เป็นทุกข์นะ นั่งนานๆ ก็ปวดก็เมื่อย เราก็แก้การปวดด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถไป ถ้าเรามีสติคอยรู้ทันไปมันเมื่อยเราก็เปลี่ยนรูปไป เราคอยเห็นแล้วแต่ละรูปมันคงอยู่ไม่ได้ มันถูกบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ เราดูไปนะ แล้วอีกตัวหนึ่งที่เห็นง่ายๆ ถ้ามีจิตตั้งมั่นขึ้นมานะ จิตตั้งมั่นเราย้อนมาดูร่างกาย มันจะเห็น ‘ร่างกายนี้ถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา’ ถ้าเรามีสติดีมีสมาธิดีก็จะดูง่ายหน่อย 

แต่ว่านักดูจิตส่วนใหญ่จะเห็นสภาวะทางนามธรรมเป็นไตรลักษณ์ง่าย อย่างที่พระอาจารย์บอกถ้าทันทีที่เรามีจิตตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่นดับไป เกิดจิตที่ไหลไป จิตที่ไหลคือจิตที่มันมีโมหะ เรารู้ทันนะ ‘จิตที่มีโมหะดับ เกิดจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมาใหม่ แล้วจิตที่รู้สึกตัวก็เกิดขึ้นได้ทีละขณะ พอรู้สึกตัว จิตที่รู้สึกตัวเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตที่หลงไปใหม่ จิตที่หลงเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมาใหม่’ ฉะนั้นเราฝึกของเราไป ฝึกสติของเราไป บางทีเราเห็นโทสะมันเกิดขึ้นมา มีสติระลึกรู้โทสะดับไป เห็นเลยโทสะเกิดแล้วก็ดับ โทสะก็ไม่เที่ยง บางทีเห็นราคะพุ่งขึ้นมานะ เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับไป หรือบางทีเมื่อก่อนพระอาจารย์ภาวนา เราก็มีสติของเราอยู่กับกรรมฐาน อยู่ดีใจไหลไปคิดได้เอง มันก็พิจารณาเห็นธรรมะเลยว่า “เออ…จิตนี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันไหลไปทำงานได้เอง เราไม่อยากคิดมันก็คิดของมันเอง จิตมันไม่ใช่ตัวเรา สั่งมันก็ไม่ได้” อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเราบ่อยๆ นะ ว่าเราสั่งจิตของเราได้ไหม สั่งจิตไม่ให้โกรธก็สั่งไม่ได้ เพราะว่าจิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยากจะโกรธแต่ว่าเห็นสภาวะที่มันไม่ถูกใจ ความโกรธมันก็เกิดขึ้นมาเอง สั่งว่าอย่ารักก็สั่งไม่ได้ 

เราดูไปเราจะเห็นเลยทั้ง ‘ร่างกายจิตใจเรา เป็นไตรลักษณ์’ ดูไปบ่อยๆ นะ ดูไปบ่อยๆ วันหนึ่งมันจะค่อยๆ เข้าใจความจริงเอง ของพระอาจารย์เวลาดูส่วนใหญ่มันจะเห็นอนิจจังเยอะ เห็นจิตเกิดดับ เห็นจิตเกิดดับได้ง่าย เพราะว่าพอเราฝึกมา เรามีจิตที่มันตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดูแล้ว พอจิตไหลไปเรารู้ว่าจิตไหล จิตไหลดับนะเกิดจิตที่ตั้งมั่นเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา

ที่หลวงพ่อท่านสอนนะ อย่างเวลาเราดูสภาวะทั้งหลาย ดูร่างกายไม่ใช่ตัวเรายังดูง่าย ดูเวทนาไม่ใช่ตัวเราก็ยังดูง่าย แต่จะดูให้เห็นว่าจิตมันไม่ใช่ตัวเรามันจะดูยาก แต่ว่าพอพระอาจารย์ภาวนานะจนเห็นว่าจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดูได้แล้ว จิตตั้งมั่นเกิดแล้วก็ดับ ตัวนี้มันเห็นจิตเกิดดับขึ้นมาได้ จิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตมันก็ไม่เที่ยง จิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา เราดูตรงนี้ไปบ่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน เวลาภาวนา ฝึกของเราไปเรื่อยๆ อย่าไปรีบร้อนภาวนา ถ้ามีเวลาเราทำรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เราฝึกของเราไป แล้วในชีวิตประจำวันมาคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ อ่านจิตอ่านใจไม่ได้ก็มารู้สึกร่างกายไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สะสมไป ถ้าเราทำไปอย่างนี้ ไปเรื่อยๆๆ…วันหนึ่งเราจะเข้าใจความจริงเอง

พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ (พระอาจารย์อ๊า) 
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
7 เมษายน 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/HQlE-PHx3R0?si=6gTwt4Crg1_JqXzb

#จิตตั้งมั่น #จิตไม่ตั้งมั่น #จิตไหลไปที่อารมณ์ #พระอาจารย์สมชาย #พระอาจารย์อ๊า #พระอาจารย์สมชายกิตฺติญาโณ #กิตฺติญาโณ #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงปู่ปราโมทย์ #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #เพ่งจ้อง #ฝึกกรรมฐาน #ร่างกายจิตใจเป็นไตรลักษณ์ #จิตไหลไปที่อารมณ์ #จิตที่พร้อมเดินปัญญา #วิปัสสนา #ล้างกิเลส #เจริญปัญญา #เกิดจิตผู้รู้ตั่งมั่น #หัดดูสภาวะ #ส่งจิตไปเพ่งอารมณ์ #เวลาภาวนาใช้จิตปกติของมนุษย์ #สติ #สมาธิ #ขณิกสมาธิ #จิตออกนอก #มีสติรู้ทันจิตที่ไหลไป #สัญญาวิปลาส #เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง


จิตตั้งมั่นพร้อมเดินปัญญา