‘การภาวนาจริงๆ มันอยู่กับการเห็นสภาวะ’ หลวงพ่อเทศน์ตั้งแต่เมื่อเช้าเลยนะ แสดงว่าช่วงนี้ครูบาอาจารย์ท่านเน้นเรื่องนี้ จริงๆ ภาวนาจุดที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องนี้เเหละ ถ้าจะให้ขมวดเรื่องที่ต้องคุยทั้งหมดธรรมะทั้งหมดที่ต้องคุย ถ้าสำคัญที่สุดคือเรื่องนี้แหละ คือ ‘เราจะรู้สภาวะที่เป็นอยู่อย่างไร รู้สภาวะที่เป็นอยู่ที่เกิดขึ้นในกายเกิดขึ้นในใจยังไง’ ถ้าย่อลงมาแล้วคือ ‘การเจริญสติปัฏฐาน’ นั่นแหละ จริงๆ เป็นธรรมะหมวดที่สำคัญที่สุด หมวดอื่นๆ มันจะตามมาเอง สำคัญคือเราอ่านจิตอ่านใจตัวเองให้ออก ใจเราเป็นยังไง ธรรมชาติของจิตใจเป็นยังไง
สิ่งแรกที่เราอ่านให้ถูก ส่วนใหญ่พวกเรานักปฏิบัติจะเป็นอยู่ 2 แบบ คือ
อย่างแรก (1) เราชอบลงไปดูสภาวะ ภาวนาเสร็จแล้วมันไม่เกิดจิตตั้งมั่น เพราะว่าจิตมันจมลงไปในการดูสภาวะ จะแช่อยู่ในการดูอ่ะ อันนี้เขาเรียกว่า ‘การเพ่ง’
อีกอันหนึ่ง (2) ก็คือว่า ‘จิตใจเราหลง’ หลงไปในความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งอันนี้พวกเราเป็นปกติของเรา ธรรมชาติของจิตเรามันส่งออกนอก ถ้าส่งออกนอกมันเป็นเรื่องที่คนยุคปัจจุบันเราเป็นบ่อย ไม่ต้องไปตำหนิตัวเอง คือถ้าออกนอกก็รู้
พอเริ่มปฏิบัติปุ๊บ…สิ่งแรกที่เราลงมือทำก็คือ การหากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งลงมา แล้วก็ดูมัน ดูที่กรรมฐานอันนี้ ส่วนใหญ่ที่เราทำคือเอากรรมฐานขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วให้จิตมันเฝ้าอยู่ที่ตัวกรรมฐานตัวนี้ วิธีการอย่างนี้ส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็น ‘การเพ่ง’ นึกภาพเราดูเวลาทำ เริ่มทำปั๊บ…เราก็จะนึกถึงกรรมฐานขึ้นมาอย่างหนึ่งใช่ไหม แล้วให้ใจเราไปอยู่กับกรรมฐานอันนั้น ทีนี้ถ้าเราทำอย่างนี้ส่วนใหญ่มันคือการเพ่ง ถามว่าเพ่งเสร็จแล้วเป็นยังไง สุดท้ายเราห้ามได้ไหม จริงๆ เพ่งก็ห้ามไม่ได้นะ นึกออกไหม
อันนี้ผมปรับไอเดียพวกเรานิดนึงนะ เวลาเราเผลอ ห้ามได้ไหม ก็ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราเพ่งเราห้ามได้ไหม จริงๆ เพ่งก็ห้ามไม่ได้นะ เพราะว่าเรานึกถึงกรรมฐานทีไร ถ้าเราไม่ทำเราก็หลง พอทำลงมือทำน้ำหนักเราไม่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ ‘รู้’ รู้สภาวะอย่างที่มันเป็น แต่เรานึกภาพไม่ออก รู้ยังไง นึกออกไหม ให้ ‘จิตรู้’ รู้ยังไง เราก็ต้องเริ่มหยิบขึ้นมาแล้วอันหนึ่งอยู่กับกรรมฐานอันนั้น เพราะฉะนั้นเพ่งไม่ต้องไปตำหนิมันนะ เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง ให้จิตมันทำงานก่อนนะ จิตมันทำงานก่อนแล้วพอมันมีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นให้รู้ไป กรรมฐานของเรามันจะง่ายขึ้นเยอะนะ
ส่วนใหญ่พวกเราจะชอบขีดเส้นอะไรบางอย่างให้ตัวเอง “ต้องอย่างงี้ ภาวนามันต้องอย่างงี้ มันต้องอย่างนี้ถึงจะเกิด ‘จิตผู้รู้’ จิตผู้รู้แล้วมันต้องมีสภาวะอย่างนี้สิ” ใช่ไหม อย่างนี้สิ่งที่ได้มันจะได้ความอึดอัด ส่วนใหญ่เราภาวนามันจะติดขัดอยู่ตรงนี้ คือเราไปขีดเส้นบางอย่างให้ตัวเราเอง จริงๆ สภาวะต่างๆ ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะอะไรก็ได้ อะไรก็ได้…เพราะอะไร จริงๆ เราปล่อยให้จิตมันทำงานก่อน ให้จิตมันทำงานก่อนแล้วรู้ จิตมันจะหลง ปล่อยมันหลง ให้มันหลงแล้วรู้ทันตามที่มันหลง ไม่ใช่ว่าเราไปบังคับไม่ให้มันหลง เราห้ามจิตให้มันไม่หลงไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ ให้มันหลงอย่างที่มันเป็นนั่นแหละแล้วรู้เอา รู้ได้เมื่อไหร่ รู้ได้เท่าที่รู้
เพราะว่ากำลังการฝึกสติของเราแต่ละคน มันต้องค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว ทำกรรมฐานเรารีบไม่ได้นะ ถ้าเรารีบเราจะพลาด พลาดตกไปเป็นทาสของกิเลสเหมือนกันแหละ ทำกรรมฐานค่อยๆ ทำ หลงก็หลง ไม่ต้องตำหนิตัวเอง ตำหนิตัวเองแล้วเป็นยังไง ก็รู้สิว่าตำหนิตัวเองก็เป็นกิเลสอีกชนิดหนึ่ง มันมีโทสะใช่ไหมถึงตำหนิตัวเอง ตำหนิตัวเองก็รู้ รู้ว่าตำหนิกับตัวเองว่า…มันหลง หลงแล้วปล่อยมันหลง รู้ได้เท่าที่รู้เพราะว่าเราค่อยๆ หัด เราค่อยๆ เดินทีละก้าว
พอหลงบ้างหรือบางครั้งเข้ามาเพ่ง เวลาครูบาอาจารย์ท่านให้เราเริ่มภาวนา ท่านสอนให้เราหาวิหารธรรมขึ้นมาอย่างหนึ่งใช่ไหม ให้มีสติรู้อยู่กับวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตมันจมลงในการดู เหมือนอย่างที่พระอาจารย์ท่านบอก นักปฏิบัติส่วนใหญ่เวลาหยิบกรรมฐานขึ้นมาอย่างหนึ่ง ใจก็จะลงไปแช่ที่ตัวกรรมฐาน พอใจลงไปแช่ที่ตัวกรรมฐานแล้วสิ่งที่ได้คือความอึดอัด สิ่งที่ได้คือการเพ่งสภาวะ เพ่งก็ไม่ผิดนะ เพ่งก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งให้จิตมันจะมีกำลัง แต่ถ้าเพ่งมากเกินไปนะใจจะเครียดไปอึดอัดไป เพราะฉะนั้นเพ่งน้ำหนัก คนส่วนใหญ่ก็จะพลาดอีกอันหนึ่งก็คือว่าพอเพ่งแล้วจะทำยังไงให้หายเพ่ง ทำยังไงให้น้ำหนักมันพอดี เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าอะไร ท่านสอนให้รู้สภาวะใช่ไหม ก็จะทำ…หาทางทำยังไงให้มันรู้ให้มันพอดี หาความพอดีในการรู้
จริงๆ เราลืมไปอย่างหนึ่งครูบาอาจารย์ท่านก็บอกไว้แล้วเหมือนกันว่า “จิตรู้ทำขึ้นมาไม่ได้” ถ้าเราพยายามทำขึ้นมาเราวัดใจตัวเองซื่อๆ นะ ทุกครั้งที่เราภาวนา เราพยายามทำจิตรู้ขึ้นมาหรือเปล่า ถ้าสมมุติพยายามทำจิตรู้ขึ้นมา จริงๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอกมันจะเป็นตัวรู้ปลอมๆ มันจะรู้แบบทื่อๆ ใช่ไหม เราก็คิดว่า เอ้ย…เรารู้สภาวะหรือเปล่า แต่ทำไมจิตใจเรามันซึมๆ ทื่อๆ มันเห็นสภาวะนะ เห็นแต่แบบรู้สึกว่าใจมันทื่อๆ ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ ใครเคยตั้งคำถามตัวเองไหม ให้ลองวัดใจดูดีๆ ว่าเราทำจิตรู้ขึ้นมาหรือเปล่า คล้ายๆว่าเราวาดภาพจิตรู้ไว้อย่างหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าเราอยู่กับกรรมฐานแล้ว หลงไปแล้วจะเกิดจิตรู้อย่างนี้ขึ้นมา อย่างนี้บางทีเราทำนะ เราทำเอา กลายเป็นจิตรู้ที่เราทำขึ้นมา เราคิดว่ามันดี จริงๆ มันก็เป็นการทำขึ้นมา ค่อยๆ สังเกตกันไป
จริงๆ กรรมฐานนะเวลาจิตมันเพ่งสภาวะไม่ต้องไปตำหนิมัน เพ่งก็เพ่งไป มันดีซะอีกนะตรงที่ง่ายๆ ว่าจิตมันอยู่ตรงนั้นน่ะ ตัวจิตมันไปวนเวียนอยู่กับตัวสภาวะนั้น เวลาจิตมันเพ่งคือสภาวะอะไร จิตเรานั่นแหละไปวนเวียนอยู่กับสภาวะนั้น ไม่ต้องไปพยายามทำอะไร แล้วเราก็แค่รู้ว่าตอนนี้มันเพ่งมันมีน้ำหนัก แล้วอยากแก้ไขก็รู้ว่าอยากแก้ไข อยากเพ่งเท่าไหร่ก็เรื่องของมัน วางใจอย่างงนี้เลย มันอยากจะเพ่งอย่างนี้ใช่ไหม อยู่ไป…อย่างนี้ อยู่จะได้สักเท่าไหร่จะคอยดู วางใจอย่างนี้ดูนะ
ส่วนใหญ่พวกเราเวลาเพ่งปุ๊บเราดิ้นรน สิ่งที่เราทำต่อมาคือการดิ้นรนให้ใจมันหลุดจากการเพ่ง หรือดิ้นรนให้จิตมันสงบ ถ้าเราฟังหลวงพ่อบ่อยๆ ส่วนใหญ่พวกที่ฟังหลวงพ่อบ่อยๆ จะดิ้นรนให้จิตหลุดจากการเพ่ง แต่พวกที่บางทีทำแนวสมาธิเยอะๆ จะดิ้นรนทำไงให้จิตสงบ แต่ผลมันเหมือนกันนะ เคยสังเกตไหมผลมันเหมือนกันนะ บางคนจะดิ้นรนให้จิตเป็นธรรมชาติ ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งเพ่ง บางคนทำให้จิตสงบ ดิ้นรนก็ไม่สงบเพราะอาการที่เราทำอาการเดียวกัน อาการในการดิ้นรน พอเห็นสภาวะอย่างที่มันเป็นแล้วนะ บางทีดิ้นรนแก้ไขมัน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เราไม่เห็นสภาวะนะ บางทีเราเห็นแต่เราไม่ได้รู้อย่างที่มันเป็น เรากลับไปปรุงแต่งต่อไป ปรุงแต่งต่อให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ภาวะที่เราจะรู้อย่างที่มันเป็น มันถึงไม่เกิดสักที ส่วนใหญ่จะเกิดช่วงเวลาที่เราไม่ได้ตั้งใจ
แต่พวกเราค่อยๆ เดินไปนะ อย่าคิดว่าเราจะต้องเดินให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา จุดสำคัญจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเราภาวนาแล้วเราได้อะไร ‘จุดสำคัญจริงๆ ภาวนาเเล้ว เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองนะ เราเข้าใจจิตใจตัวเอง คอยอ่านตัวเอง เข้าใจจิตใจตัวเอง’ อันนี้เป็นประโยชน์ที่มากที่สุด จะได้อะไรไม่ได้อะไรเป็นเรื่องที่ปล่อย ต้องปล่อยมันไป ไม่ใช่ว่าเราจะต้องได้จิตรู้หรือได้เข้าใจในตัวธรรมะขึ้นมา จุดสำคัญของเราเพียรอ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในกายในใจเราไป แล้วทุกครั้งที่เราเห็นสภาวะจิตมันจะได้เรียนรู้ จิตมันจำสภาวะที่มันหลงตรงนั้นได้ ต่อไปกิเลสเกิดขึ้นหรือจิตมันหลงเกิดขึ้น สติมันทำงานขึ้นมาเอง
สิ่งที่คนพลาดพวกเราส่วนใหญ่คือจริงๆ แล้วตัวสติ สมาธิ ถึงเวลาเราคอยหัดดูอย่างนี้ไป ถึงเวลาพอเราปล่อยใจให้เป็นธรรมชาติ ตัวสติ ตัวจิตรู้มันทำขึ้นมาเอง มันรู้อย่างที่มันเป็นของมันเอง เพราะฉะนั้นจุดที่เราจะหัดเนี่ย เรา ‘คอยรู้ทันใจที่มันเพ่ง ใจที่มันเผลอ’ รู้ตรงนี้หลักๆ แค่ทำตัวนี้ก็ทำทั้งวันทั้งคืนแล้ว ใจเราจะเวียนอยู่ใน 2 จุดนี้แหละ ยิ่งเราเป็นนักภาวนา ส่วนใหญ่จะอยู่อย่างนี้ แต่ละคนก็ลีลาไม่เหมือนกัน ลีลาการเพ่งการเผลอมันไม่เหมือนกัน เพราะพวกเราแต่ละคนมีจิตมีใจมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ลักษณะไม่เกิน 2 อย่างนี้หรอกหลักๆ
หัดดูไป…ฟังธรรมะครูบาอาจารย์มา ใครฟังตั้งแต่ตอนเช้าแล้วบ้าง ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ท่านนะท่านจะสอนในเรื่องนี้แหละ เพราะที่เหลือมันเป็นเรื่องของจิตใจ จิตใจใครใจมัน จิตตัวใครตัวมัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้สอนแนะนำได้จริงๆ คือคล้ายๆ เอาอาวุธไป มาเอาอาวุธไปที่เหลือมีเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราฝึกหัดของเรา ฝึกหัดของเราเอง ไม่ใช่ว่ามีรูปแบบอะไรตายตัวนะ อย่าไปกำหนดว่ามีรูปแบบตายตัว ต้องอย่างนี้…ต้องอย่างนี้ ทุกกิจวัตรประจำวันของเราทั้งหมดนั่นแหละ ตั้งแต่ตื่นจนหลับใช้โลกทั้งโลกให้เป็นห้องกรรมฐาน ไม่ต้องไปว่า เฮ้ย…ต้องเวลานี้ภาวนา เวลานี้ไม่ภาวนา
อ่านไปเรื่อยๆ อ่านได้เท่าที่อ่าน เราจะมีเวลาในการอ่านทั้งวันทั้งคืน นึกออกไหม เพราะหลายๆ คนน่ะเราไปตั้งเป้าว่า ช่วงนี้ทำในรูปแบบหน่อย ช่วงนี้ภาวนาเยอะหน่อยอย่างนี้ จริงๆ เราตั้งเป้าว่าตั้งแต่ตื่นจนหลับนี่คือห้องกรรมฐาน ห้องกรรมฐานเรานี่แหละ ดูไปเรื่อยๆ มันจะรู้สึกว่าเออ…มันยังไงก็ได้ นึกออกไหม ถ้าใครที่แบบต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้เยอะๆ กลายเป็นว่าจะอึดอัดมากกว่าเดิมอีก
อาจารย์ณพัทธ์พล คุณาธนะเศรษฐ์ (อาจารย์ซอง)
14 กรกฎาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย
ที่มาคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=Fk6fy0G3w5Q
#รู้สภาวะที่เกิดขึ้นในกายในใจ #อาจารย์ซอง #การเจริญสติปัฏฐาน #ธรรมะหมวดที่สำคัญที่สุด #อาจารย์ณพัทธ์พล #อาจารย์ณพัทธ์พลคุณาธนะเศรษฐ์ #ลงไปดูสภาวะ #เพ่ง #จิตใจหลงไปในความคิดนึกปรุงเเต่ง #จิตส่งออกนอก #กรรมฐาน #รู้สภาวะอย่างที่มันเป็น #ให้จิตมันทำงานก่อน #จิตผู้รู้ #สภาวะ #จิตหลงเเล้วรู้ #รู้ทันตามที่มันหลง #จิตเพ่งแล้วรู้ #ตกเป็นทาสของกิเลส #โทสะ #รู้เท่าที่รู้ได้ #อยู่กับวิหารธรรม #ความอึดอัด #แช่ที่ตัวกรรมฐาน #จิตรู้ทำขึ้นมาไม่ได้ #ตัวรู้ปลอมมันจะรู้เเบบทื่อๆ #ดิ้นรนให้จิตมันสงบ #เข้าใจจิตใจตัวเอง #จิตจำสภาวะได้ #สติ #สมาธิ #ทำรูปแบบ #ภาวนา #เจริญสติ #ใช้โลกทั้งโลกให้เป็นห้องกรรมฐาน #ไม่ตำหนิตัวเอง #ฝึกไปเรื่อยๆ #บ้านจิตสบาย