ท่านบอกว่าคนเรานี้ถูกความเข้าใจผิดปิดบังอยู่ เรียกว่าเป็น ‘สัญญาวิปลาส’ เป็นความหมายรู้ที่ผิด ความหมายรู้ที่ผิดมีอยู่ 4 อย่าง ‘(1) เห็นของไม่สวยว่าสวย’ เห็นอยู่นี่นะ เห็นของไม่สวยว่าสวย แต่คนแต่งงานแล้วก็ต้องทำใจไว้ก่อนว่า เราตัดสินใจมาแล้วก็ต้องยอมรับ รับผิดชอบต่อไป คนที่ยังไม่แต่งงานก็รีบทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ก่อนว่า มีความเข้าใจผิดอยู่อย่างหนึ่งคือเห็นของไม่สวยว่าสวย ‘เห็นสิ่งที่เป็นอสุภะแล้วหมายรู้ว่าเป็นสุภะ คือเห็นของที่ไม่สวยว่าสวย’ นี่คนทั่วๆ ไปเลย
ที่สำคัญอีก 3 ข้อก็คือว่า ‘(2) เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง’ เห็นว่าชีวิตยั่งยืน จริงๆ ไม่เที่ยงเลย ชีวิตนี้นะไม่เที่ยงเลย คนคิดว่าอีกนานกว่าจะตาย รู้สึกว่าแม้จะรู้สึกว่าไม่เที่ยงก็จริงนะ แต่อีกนานกว่าจะตาย นี่ก็ผิดนะ มีสัญญาวิปลาสอยู่ บางคนเห็นจริงจังขนาดว่าตายไปแล้วเกิดเป็นคน จากคนแล้วตายไปแล้วต้องเกิดเป็นคน หรือตายไปแล้วต้องวนเวียนอยู่ในสุคติอย่างเดียว ไปเป็นเทวดาแล้วกลับมาเป็นคน ไม่แน่หรอก มันขึ้นอยู่กับ ‘กรรมและวิบาก’ ทำกรรมอะไรไว้มีกุศลหรืออกุศลก็ไปตามกรรมที่ตัวเองทำ ซึ่งมันละเอียดซับซ้อนเพราะว่าชีวิตหนึ่งของคนเรามีชีวิตอยู่ 60 ปี 70 ปี สมมุตินะ ก็สร้างกรรมเอาไว้มากมายหลากหลาย อย่าว่าแต่ 10 อย่าว่า 60 ปีเลย วันเดียวก็ทำกรรมหลากหลายมาก ความหลากหลายของกรรมมันจึงมีหลากหลายผลด้วย มีผลที่ดี ดีมาก ดีธรรมดา ดีปานกลาง หรือไม่ดี ไม่ดีมากๆ ไม่ดีสุดๆ มีมากมายเลย ที่เราทำประจำ เป็นอะไรที่ทำแล้วเป็นกรรมที่มันมีผลรุนแรงมีไหม ก็มีแรงมาก แรงน้อย
อย่างที่หลวงพ่อแสดงแจกแจงเมื่อเช้านี้ มีความหลากหลายของกรรมที่ทำ ก็มีความหลากหลายของวิบากที่จะให้ผล เห็นคนที่เรารู้สึกว่ามันเลวมันชั่ว แต่ทำไมมันยังมีความสุข เพราะมันมีกุศลที่กำลังให้ผลอยู่ของเขา ก็ไม่ได้ทำชั่ว 100% แล้วก็ไม่ได้ทำดี 100% ในคนดีทำไมไม่ได้ดี มันยังมีผลชั่วให้ผลอยู่ มองคนอื่นแล้วก็ให้มองมาที่ตัวเองนะ เราเองก็ต้องใจเย็นๆ ในกรรมดีที่ทำอยู่ในตอนนี้ มันอาจจะยังไม่ให้ผลออกมาเป็นรูปธรรมคือร่ำรวยอะไรนะ แต่ขอให้มี ‘ใจสบาย’ เอาไว้ก่อน ใจสบายได้ผลแน่นอนทันทีเลย มโนกรรมนี่นะให้ผลทันที มีความเข้าใจผิดในเรื่องของมองสิ่งไม่สวยงามว่าสวยงาม มองสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
‘(3) มองสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข’ ก็เลยใฝ่หาคาดว่าจะสุขแล้วผลออกมาเป็นทุกข์ทุกที ผิดหวังทุกที ผิดหวังแล้วก็หวังต่อ หวังว่าสิ่งที่จะหวังนั้นจะให้ความสุข หวังแล้ว…ตอนหวังก็คาดหวังว่าจะสุข ตอนแสวงหาไขว่คว้าก็เป็นทุกข์อยู่นะ แต่ก็คาดหวังไว้ว่า จะสุข…ยังไม่สุขเลยนะ คาดหวังไว้…เหนื่อยแทบตาย ได้มาดีใจหน่อยนึง แล้วก็ผลปรากฏว่าผิดหวัง เพราะมันเป็นทุกข์ มันหลอกเราอยู่ตลอดเลย หลอกให้เราเหนื่อย…เหนื่อยไปทั้งชีวิตเลย
บางคนจะตายแล้วยังไม่สมหวังเลย ไม่สมหวังก็หวังต่อชาติหน้า หวังต่อชาติหน้านะ เขาว่าสวรรค์เป็นสุขขอไปสวรรค์ สมมุติไปสวรรค์ได้จริงนะ ก็มีความสุขอยู่พักนึงนะ แล้วก็สุขนั้นพาเพลินเหลิงระเริงกับชีวิต แล้วก็ต้องตาย พอตายก็เป็นทุกข์มากเลย เพราะยิ่งมีสุขกับสิ่งใดมาก พอจะตายมันพลัดพราก ยิ่งผิดหวังมาก ผิดหวังมากก็เป็นทุกข์มาก ฉะนั้นเทวดาถ้าไม่ได้ฝึกกรรมฐานมาก่อน ตอนตายน่าสงสารเพราะมักจะไปอบาย แม้แต่เป็นพระพรหมนะ เป็นพระพรหมก็ไม่พ้น ยังไม่พ้นอบาย ถ้ายังเป็นปุถุชน ตอนนี้เราเป็นคน เป็นจุดที่พอดีๆ ไม่ทุกข์เกินไปไม่สุขเกินไป สุขพอให้สบายใจได้ พอได้พักผ่อนบ้าง ทุกข์ก็พอเตือนให้ไม่ประมาท
ถ้ามองในแง่นี้ เราก็จะพัฒนาตัวเองเห็นว่า ‘ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน’ แต่ระหว่างที่ยังไม่ตายนี้ ใช้ชีวิตที่เหมาะสมนี้พัฒนาตัวเอง ‘เห็นทุกข์บีบคั้นเป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาท’ อย่างนี้นะ เห็นเป็นเรื่องธรรมดาว่าเป็นปกติของชีวิตที่จะมีความบีบคั้นอยู่อย่างนี้ นี่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในภูมิที่เรียกว่าเป็นสุคติ ยังทุกข์แบบนี้ มันเป็นเรื่องปกติของชีวิตที่มันประกอบด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง รูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง มันประกอบด้วย ‘ความไม่เที่ยง’ ส่วนประกอบที่ไม่เที่ยงทุกๆ อย่างเลย ฉะนั้นเวลามันอยู่ด้วยกันมันจึงบีบคั้นขัดแย้ง ด้วยความที่ไม่เที่ยงของมัน
ชีวิตเป็นมนุษย์เป็นแบบนี้ ประกอบด้วยขันธ์ 5 แบบนี้ ชีวิตเทวดาก็เป็นแบบเดียวกัน ประกอบด้วยขันธ์ 5 แบบเดียวกันเลย ประกอบที่ว่าแบบเดียวกันคือ ‘ไม่เที่ยง’ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่ไม่เที่ยง แล้วจึง บีบคั้นขัดแย้ง อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงขัดกับความต้องการ ขัดกับตัณหาที่มีอยู่ ตัณหาจะไม่ได้รับการสนองอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นต้องทุกข์แน่นอน หวังว่าจะไปเป็นเทวดาแล้วมีความสุข ไม่สุขจริง ผิดหวัง เรียกว่าเคว้งคว้างกลางสวรรค์ ถ้าไม่มีธรรมะหรือไม่มีการภาวนาเอาไว้ก่อน มันก็จะเขว้งคว้างอยู่บนสวรรค์นั่นเอง เนี่ยมองสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
‘(4) มองสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน’ ชีวิตเป็นเพียงส่วนประกอบของ ‘รูปธรรม และนามธรรม’
‘รูปธรรม ก็คือรูปขันธ์’ ร่างกายนี่แหละ ที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า ‘รูป’
‘ขันธ์’ ก็แปลว่ากอง ก็คือมี ‘รูป’ หลายประเภท รูปที่ดูได้ด้วยตา รูปที่ฟังด้วยหู เสียงนี้ก็เป็นรูปนะ เรียกว่า ‘รูปขันธ์’ ไม่ใช่ Picture รูปในที่นี้ไม่ใช่ Picture เรียกว่า ‘รูปธรรม’ เสียงเป็นรูปธรรม สามารถแปลงเสียงให้เป็นไฟฟ้า แปลงได้ แล้วก็ส่งต่อไปทางคลื่นวิทยุแปลงกลับมาเป็นคลื่นไฟฟ้า กลายเป็นคลื่นเสียง อย่างนี้ได้ เป็นความเปลี่ยนแปลงของรูปธรรมในรูปแบบต่างๆ เสียงยังไม่มีการส่งกลิ่นทางไกลนะ มีแต่ส่งรูปที่เป็นแสงสีไปทางไกล เป็นโทรทัศน์ เป็น Television คือสามารถดูได้ทางไกลจริงๆ ก็คือเป็นการเปลี่ยนของรูป เป็นเปลี่ยนสภาพของรูปไป จากคลื่นแสงก็เป็นคลื่นอะไร…ไฟฟ้า เป็นคลื่นวิทยุแล้วก็มีตัวรับเป็นคลื่นไฟฟ้า เปลี่ยนเป็นคลื่นแสง
กลิ่นนี่ก็เป็นคลื่นไหม ตอนที่นั่งอยู่ตรงนี้สมมุตินั่งอยู่ตรงนี้ ได้กลิ่นดอกไม้ ดอกไม้มันมาไหม…ไม่ได้มานะ มันส่งกลิ่นมา ต้องมีอะไรเป็นรูปธรรมนั่นแหละนะ…ส่งออกมา แต่กลิ่นมันไม่เหมือนกับแสงและเสียง กลิ่นมันตามลม…ไม่ทวนลม แสดงว่ามันต้องเป็นอะไรที่เป็นน้ำหนักหน่อย ที่มันทวนลมไม่ได้ ถ้าลมพัดมามันไม่ย้อนไปทางนู้น สมมุติว่าอาตมามีกลิ่นตัวแรงๆ นะ นั่งอยู่ทางนู้นไม่ได้กลิ่นหรอก เพราะลมพัดมาทางนี้ ทางนู้นระวังให้ดีนะ เดี๋ยวอาตมาจะปล่อยกลิ่นไปประมาณนั้น กลิ่นเนี่ยตามลม มีกลิ่นที่ทวนลมคือ ‘กลิ่นศีล’ กลิ่นของศีล กลิ่นความประพฤติทางกายทางวาจาที่เรียบร้อย ไม่ไปละเมิดชีวิตใคร ไม่ไปละเมิดทรัพย์สินของใคร มีข้อวัตรปฏิบัติที่งดงาม
รสนั้นยังส่งทางไกลไม่ได้ แปลงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นไฟฟ้าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเปิดจอมานะ แตะปุ่มให้ส่งกลิ่นก็ได้กลิ่น ขอชิมหน่อยสิ ว่าภาพสวยๆ อร่อยไหม…ก็จิ้มแล้วดูดนะ จิ้มจากจอมันยังทำไม่ได้
รูป…เสียง…กลิ่น…รส… สัมผัสนี่นะไม่ได้เลย สัมผัสจออย่างเดียว แตะไปเป็นรูปไฟก็จริงแต่ไม่ร้อน เป็นรูปน้ำแข็งแต่ไม่เย็น เห็นแต่เป็นแสงสี ‘ชีวิตก็เป็นแบบนี้ประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนไม่มีใครเป็นเจ้าของ’ รูปธรรมก็เป็นแบบนี้
‘นามธรรมก็ประกอบไปด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 4 อย่าง’ ‘เวทนา’ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ สุขทุกข์เฉยๆ ภาษาโบราณท่านใช้คำว่า ‘เสวยอารมณ์’ นะ อ่านแล้วก็มีความรู้สึกว่าเหมือนเข้าวัง มีศัพท์แบบราชาศัพท์ เสวยอารมณ์ เอาง่ายๆ เสพอารมณ์แล้วก็มีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือบางทีก็บอกไม่ถูกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เรียกว่าเฉยๆ ภาษาบาลีใช้คำว่า ‘อทุกขมสุข’ (อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ อทุกขมสุขตรงนั้นก็เป็นเวทนาแล้ว เวทนามีอยู่ทุกขณะจิต เป็นสุขเป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ จึงเรียกเป็นกอง จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า ‘เป็นกองแห่งเวทนา’ ภาษาบาลีก็ ‘เวทนาขันธ์’ ชีวิตก็มีกองแห่งเวทนาอยู่ เกิดขึ้นทุกๆ ขณะจิต
มีกองของสัญญา ‘สัญญาคือความจำได้หมายรู้’ จำได้กับจำไม่ได้ ก็คืออยู่ในหมวดของจำได้ เป็นอัลไซเมอร์ก็คือจำไม่ได้ สัญญาเพี้ยนไป สัญญาผิดเพี้ยน แต่ก็มีสัญญาอยู่ สัญญาทำงานอยู่ แต่ว่าทำงานเพี้ยนไป หมายรู้อีกแบบหนึ่งก็คือ หมายรู้คือมองแล้วก็เหมือนมีความรู้อยู่ว่านี่คืออะไร มีความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่เข้าใจแบบมีปัญญา แต่รู้ว่าอันนี้มองไปแล้วนี่คือขวดน้ำ มองไปแล้วนี่คือดอกไม้ หมายดูต่อไปอีกว่าดอกไม้จริงหรือดอกไม้ปลอม ประมาณนี้นะ หมายรู้มาจากประสบการณ์ จากสัญญานั่นเอง มันจึงอยู่ในกลุ่มของสัญญา เป็นสัญญาขันธ์ จากรับรู้จำไว้ แล้วก็หมายเอาไว้ว่าอย่างนี้คืออย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าเส้นตรง เส้นตรงประกอบกันอย่างนี้เรียกว่าเป็นลูกบาศก์ เป็นกล่อง ถ้าสีอย่างนี้น่าจะเป็นไม้ อย่างนี้นะ แตะไปเออ…ไม้จริงๆ สีเงินๆ น่าจะเป็นเงิน น่าจะเป็นโลหะ ใสๆ อย่างนี้น่าจะเป็นแก้ว ถ้าไม่ใช่แก้วก็เป็นพลาสติก ความหมายรู้ก็มาจากประสบการณ์เก่าประกอบกัน
ประสบการณ์เก่าของเราเวลาหมายรู้ชีวิต มันจะหมายรู้จากประสบการณ์ที่ยังเชื่อไม่ได้ มันจะหมายรู้ว่ามีเราอยู่ ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็นความหมายรู้ โดยที่ยังมีอวิชชา อวิชชาไม่ใช่ว่าแปลว่าไม่รู้ แบบไม่รู้อะไรเลยนะ ซื่อๆ บื้อๆ อะไรก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันรู้…แต่ว่ารู้ผิด รู้ผิดว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หมายรู้อยู่ว่าเป็นเรา มันรู้แต่รู้ผิด หน้าที่ของเราคือหาข้อมูลมาให้มันรับรู้ เพื่อหมายรู้ใหม่ หมายรู้ว่าเป็นเรานี่เป็นสัญญาเพี้ยนไป ที่เราพูดถึงสัญญาวิปลาศ 4 อย่างก็คืออยู่ในนี้ ที่เป็นหมายรู้ผิดว่า ‘มีเราในสิ่งที่ไม่ใช่เรา’ ก็ฝึกให้เกิดมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมาก่อน ตอนรู้สึกตัวขึ้นมาก่อนก็รู้จักสภาวะ เช่น ว่าโกรธแล้วรู้ว่าโกรธ ตอนโกรธ สมมุติโกรธโยมนะ คนเดิมเลย…คนที่เคยมีราคะนะ สมมุติโกรธคนนี้ (คนนั้นไม่ต้องกลัวไม่เป็นไร) อ่า…โกรธคนนี้ก็ได้ โกรธคนนี้…ตอนที่โกรธนี่นะ ขณะที่โกรธจริงๆ ไม่รู้ตัวเองว่าโกรธ มันจะรู้ว่าคนนี้ไม่ดี สมมุติเฉยๆ นะ รู้ว่าคนนี้ไม่ดี คนนี้ทำไม่ถูกใจเรา…โกรธ อารมณ์ของจิต ‘อารมณ์แปลว่าสิ่งที่จิตไปรู้เข้า’ จิตไปรู้อะไร รู้คนนี้ รู้คนเบอร์ 2 นี้ แล้วไม่พอใจก็กลายเป็นโกรธ จิตที่มามีความรู้สึกตัวคือจิตที่รู้ทันจิตเมื่อกี้นี้
สมมุตินะ กำหมัดนี้เป็นจิตดวงที่โกรธ จิตดวงที่โกรธรู้ที่โยมเบอร์ 2 แล้วก็ไม่ชอบใจ จิตนี้มีเบอร์ 2 เป็นอารมณ์แล้วไม่ชอบใจ เรียกจิตตรงนี้ว่าโกรธ แต่จิตเองไม่รู้ตัวเองว่าโกรธ มันรู้ว่าโยมเบอร์ 2 ไม่ดีนะ จิตดวงใหม่เกิดขึ้นมาเห็นจิตเมื่อกี้นี้ ถ้าเห็นเฉยๆ มีสติ ก็จะเห็นว่ามีความโกรธ มีความโกรธอยู่ที่จิตนี้ เพราะว่ามันเด่น จริงๆ ไม่ใช่มีแต่ความโกรธอย่างเดียว มีทุกขเวทนาอยู่ด้วย ไม่ชอบใจมีทุกข์อยู่ แต่ความเด่นคือโกรธ ก็เห็น เวลาดูจิตก็เห็นว่าโกรธ ไม่ได้เห็นเบอร์ 2 เท่าไหร่ เห็นโกรธ ตอนเห็นโกรธเรียกว่ารู้จัก ไอนี้ก็รู้จักเหมือนกันนะ แต่รู้ไม่จริง มองว่าเขาไม่ดี…ยังไม่แน่นะว่าเขาจะไม่ดีจริงหรือเปล่า นึกออกไหมแต่มันโกรธ ไอ้โกรธนี่จริง เกิดขึ้นจริงกับจิตดวงนี้ ‘รู้ทันว่าโกรธคือรู้จริง’ รู้จักว่ามีความโกรธเกิดขึ้น มีความจริงเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ในตอนที่มีสติรู้ ความจริงอันนี้เราเรียกอย่างนี้ว่ามีสติ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติรู้จิต มีสติตามรู้จิตเรียกว่าตามรู้
ทำไมต้องเรียกว่าตามรู้ เพราะว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนแล้วค่อยรู้ อันนี้มีโกรธเกิดขึ้นมาแล้วก็รู้ เรียกว่าตามรู้ ไม่ใช่รู้นำ ไม่ใช่นำรู้ ก็ตามรู้คือมีโกรธขึ้นมาแล้วจึงรู้ ไม่ใช่รู้ก่อนแล้วค่อยโกรธ รู้ก่อนค่อยโกรธไม่มี…เข้าใจไหม แล้วก็ไม่ใช่รู้พร้อมกันด้วย ไม่ใช่โกรธไปรู้ไป…ไม่ใช่ ถ้าโกรธไปรู้ไปมันจะรู้แต่ว่าเบอร์ 2 ไม่ดี โกรธไปรู้ไป คือระหว่างที่โกรธนะรู้ว่าเบอร์ 2 ไม่ดี แล้วตอนที่รู้ว่าเบอร์ 2 ไม่ดีก็มีความโกรธอยู่พร้อมกันนะ แต่ถ้ามีสติตามรู้ ตามรู้คือมีโกรธขึ้นมาแล้วรู้อย่างนี้นะ โดยไม่มีอะไรมาคั่นเลย อย่างนี้เรียกว่ามีสติปัฏฐาน ตอนมีสติปัฏฐานนะ อย่างน้อยๆ จะรู้จักความจริงอย่างหนึ่งว่า มีความโกรธเกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ เป็นความจริง
ความจริงมีหลายระดับ ความจริงระดับแรก คือมีโกรธอยู่จริงๆ เรียกสติ เรียกว่ามีสติรู้จิต แล้วก็เรียกง่ายๆ ว่า ‘รู้จักสภาวะ’ ที่หลวงพ่อย้ำอยู่บ่อยๆ ในช่วงหลังๆ ก็คือว่า ‘เราต้องรู้สึกตัวให้เป็น’ ตรงนี้แหละ รู้สึกตัว รู้สึกถึงว่ามีอะไรอยู่ที่จิตเมื่อกี้นี้ รู้ให้เป็น รู้ให้ทัน ที่ว่ารู้ให้ทันก็คือว่า ไม่ใช่โกรธโยมเบอร์ 2 แล้วมามองทางนี้…มองทางนู้น…มองทางนั้น… แล้วจึงพึ่ง…เมื่อกี้โกรธโยมเบอร์ 2 นี้ช้าไป นึกออกไหม ทำไมถึงช้าไป เพราะมันต้องคิดแล้วว่าเมื่อกี้โกรธโยมคนนี้ แต่ถ้าโกรธอยู่แล้วรู้เลยนะไม่ต้องคิดมันแค่รู้
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
สวนธรรมประสานสุข จังหวัดชลบุรี
24 มีนาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย
ที่มาคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=vNh2PdZia80
#สัญญาวิปลาส #ความหมายรู้ที่ผิด #ถูกความเข้าใจผิดปิดบังอยู่ #เห็นของไม่สวยว่าสวย #เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง #มองสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข #มองสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน #พระอาจารย์กฤช #พระอาจารย์กฤชนิมมฺโล #นิมมฺโล #เห็นอสุภะแล้วหมายรู้ว่าเป็นสุภะ #กรรมและวิบาก #กุศล #อกุศล #การให้ผลของกรรม #วิบากที่จะให้ผล #แสวงหาไขว่คว้าก็เป็นทุกข์ #เห็นทุกข์บีบคั้น #ผิดหวังมากทุกข์มาก #เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาท #ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง #รูปไม่เที่ยง