พระธนุสรณ์ จิรสรโณ

ทำกรรมฐานที่เนื่องด้วยกายที่เนื่องด้วยใจ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2567  

ถ้าเราอยากจะพัฒนานะ เราต้องหากรรมฐานสักอย่างนึงแล้วคอยรู้ทันจิตใจของเราไป มันจะทําให้เรามีสติได้ง่าย แต่ถ้าเราปล่อยใจปล่อยกายไปเลยแล้วคอยมีสติรู้ทันมันจะยาก เพราะว่าท่านเคยเปรียบเทียบเหมือนเราอยู่ในอากาศว่างๆ แล้วจิตมันหลงไปมันไม่มีตัวที่มันเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่ามันไหลไปแล้ว มันจะดูยาก อย่างเช่นเราลอยๆ อย่างนี้มันจะดูยาก แต่ถ้าเรามีสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องหมาย เช่น พุทโธ หรือดูร่างกายเคลื่อนไหว หรือดูร่างกายหายใจ มันมีเครื่องอยู่ตรงนี้ไว้ แล้วพอใจมันไหลออกไป มันรู้ว่ามันไหลออกไปแล้ว มันจะรู้ได้ง่ายกว่า แต่ถ้ามันลอยๆ มันรู้ยาก มันลอยๆ อย่างนี้ เราจะดูว่ามันไหลไปแล้ว มันจะดูค่อนข้างยาก เหมือนอยู่ในอวกาศ แต่ถ้าเรามีดวงดาวหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายไว้ว่ายานอวกาศมันออกจากดวงดาวนี้แล้ว มันจะสังเกตได้ง่ายว่ามันเคลื่อนไหวออกไปแล้ว ดังนั้นท่านให้มีเครื่องอยู่ตรงนี้ มันจะช่วยทําให้เราสังเกตได้ง่าย ว่ามันขาดสติไปแล้ว หลงไปแล้ว จิตไม่ตั้งมั่นไปแล้ว ถ้าเรารู้ทันจิตมันก็ตั้งมั่นเข้ามา

ดังนั้นฝากทุกคนที่อยากจะพัฒนานะ ต้องมีเครื่องอยู่เรียกว่า ‘วิหารธรรม’ ใน ‘สติปัฏฐาน ใช้กาย เวทนา จิต หรือธรรม เป็นเครื่องอยู่ของจิต’ นั่นแหละ เป็นเครื่องอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วพอจิตมันไหลออกไปคอยรู้ทัน บางคนถนัดรู้นามธรรม รู้จิตใจ รู้ใจสุข ใจทุกข์ รู้ว่าใจมีราคะ ใจมีโทสะ ใจมีโมหะ เราก็รู้ทันจิตเอา บางคนถนัดที่จะดูร่างกาย กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง ก็ดูร่างกายไว้ แล้วพอใจมันไหลออกไปจากร่างกายแสดงว่ามันหลงไปแล้ว ถ้าเราหลงไปแล้วรู้ได้ทัน สติก็เกิดขึ้นได้เร็ว อันนี้คือเราสามารถทําในชีวิตประจําวันได้เลย ไม่จําเป็นจะต้องอยู่แค่ห้องพระ หรือว่าอยู่ในที่ใกล้ๆ ที่นอน ที่นั่งของเรา ถึงจะภาวนาในชีวิตประจําวัน

ครูบาก็ดูกระดูก ดูทั้งวัน จะเดินบิณฑบาต จะฉันข้าว จะตักอาหาร หรือจะคุยกับโยมครูบาก็ดูกระดูกได้ ดูไปๆ เรื่อยๆ คือให้ใจมันเคล้าเคลียอยู่กับกระดูก อยู่กับกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ มันจะได้สมาธิ อย่างน้อยมันได้ ‘สมถะ’ คือเป็นสมาธิที่แนบกับอารมณ์อย่างนี้ก็ยังได้นะ แต่มีสติไว้ว่ามันอยู่กับตรงนี้แหละ มันอยู่กับกระดูกนี่แหละ มันจะมีสมาธิขึ้นมา มีสมถะเป็นสมถะขึ้นมา แล้วถ้าใจมันหลงออกไปแล้วเรารู้ทันนะมันจะได้จิตที่ตั้งมั่น มันเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง

สมาธิที่หลวงพ่อบอกมี 2 อย่าง คือหนึ่ง สมาธิที่จิตอยู่กับอารมณ์ๆ เดียว อย่างมีความสุขอย่างต่อเนื่อง มันเป็นสมถะ อันนั้นจะทําให้จิตมีแรง อีกอันหนึ่งก็คือ ให้จิตมันเคลื่อนไหว และคอยรู้ทัน มันเห็นลักษณะ คือเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน อันแรก เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน คือจิตอยู่กับอารมณ์ๆ เดียว อย่างมีความสุขอย่างต่อเนื่อง อย่างครูบาอาจารย์ก็อยู่กับกระดูก อีกอันหนึ่งก็คือ ลักขณูปนิชฌาน คือพอจิตมันเคลื่อนออกจากกรรมฐานไปแล้ว เรารู้ทันตรงนี้จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นสมาธิที่สอง สมาธิอันนี้จะใช้ในการเจริญปัญญา ครูบาฝึกจากกรรมฐานอันเดียวนี่แหละ ก็คือดูกระดูกไป ถ้าเราอยู่กับกระดูกไปเรื่อยๆ แนบกับกระดูกไป จิตก็เป็นสมถะ พอใจมันเคลื่อนไหวออกไปจากกระดูก ใจมันไหลไปคิด เรารู้ทัน จิตมันก็ตั้งมั่นเข้ามามันก็จะเป็นสมาธิแบบที่สอง

ดังนั้นเราเลือกกรรมฐานสักอย่างหนึ่งของเราที่ถนัด บางคนดูกาย บางคนดูเวทนา ดูสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็ได้ บางคนดูจิต บางคนพิจารณาธรรมะ แต่ธรรมะค่อนข้างยาก มันจะฟุ้งซ่านได้ง่าย ดังนั้นที่หลวงพ่อสอนเราลองทําดู ทําไปก่อน จะพุทโธก็ได้ พุทโธมันเป็นอารมณ์อันใหญ่ก็จริง แต่มันใช้ตัวจิต จิตที่มันหลงไปจากพุทโธ แล้วคอยรู้ทัน มันก็เหมือนกับที่ดูกระดูกนั่นแหละ ครูบาใช้ตามที่ถนัด ของแต่ละคนไปเลือกเอา ครูบาใช้กระดูก แต่ของเราไม่จําเป็นต้องเหมือนครูบา หลวงพ่อท่านใช้ลมหายใจนะท่านถนัด พระอาจารย์อ๊าท่านใช้อิริยาบถ แต่ละคนมีกรรมฐานไม่เหมือนกัน ดูตามจริตตามนิสัยของเรา เเต่หลักก็จะเหมือนกันคือ ‘พอใจไหลออกไป แล้วเรารู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา’ เราอยู่กับกรรมฐานไปเรื่อยๆ อย่างมีความสุข ในอารมณ์ๆ เดียวก็ได้สมถะ ก็จะมีสมถะขึ้นมา เราฝึกตรงนี้บ่อยๆ สมถะมันจะทําให้ใจมีแรง พอมีแรงแล้ว เราก็มาใช้ในเจริญวิปัสสนาต่อได้ ก็คือทําให้จิตมันตั้งมั่น ใจมันไหลออกไป เรารู้ทัน มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราเห็นว่าจิตที่มันไหลไป มันไหลได้เอง ไม่ใช่เรานะ มันก็เริ่มเจริญปัญญาได้ อันนี้มันไม่ได้ยากเลย แต่ต้องฝึก อย่าคิดเยอะ อย่าคิดว่าต้องทําอย่างไรถึงจะดี ทำอย่างไรถึงจะดี แต่มันห้ามยาก เพราะว่าตื่นเช้าขึ้นมาครูบาก็คิดว่าทําอย่างไรให้มันดีกว่านี้เหมือนกัน จะภาวนาอย่างไรท่าไหนดีอะไรอย่างนี้ คือมันอาศัยความจงใจไปก่อน ความอยากไปก่อน แต่เราค่อยๆ รู้ทันสภาวะที่มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือจะมีสติขึ้นมา

พอมีสติขึ้นมาบ่อยๆ สมาธิก็เกิด มันต้องอาศัยความอดทนนี่แหละ ค่อยๆ เรียนรู้ตัวเอง อย่าไปเรียนรู้คนอื่นนะ ว่าคนอื่นเป็นยังไง คนนั้นคนนี้เป็นยังไงมันจะออกนอกไป จิตจะไม่เข้าฐาน จิตจะไปอยู่กับคนนั้นไม่อยู่กับกายกับใจ เหมือนที่เราดูโซเชียล คนนั้นเขาโพสต์ไปอย่างนี้ คนนี้โพสต์ไปอย่างนั้น ใจไปอยู่กับคนนั้นคนนี้แล้ว ไม่ได้อยู่กับกายกับใจเรา บางคนบอกว่า อ้าว…ก็หลวงพ่อสอนให้ดูจิต แล้วก็ไปอ่านโพสต์ ดูซีรีส์ แล้วใจ ความรู้สึกอย่างไร แล้วคอยรู้ทันได้ไหม โอ้ยาก…มันได้แหละ เเต่รู้ทัน 1 ครั้ง แล้วหลงอีก 1-2 ชั่วโมงอย่างนี้ มันไม่ได้กิน

ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอน ‘ทํากรรมฐานที่เนื่องด้วยกายที่เนื่องด้วยใจ’ มันจะภาวนาต่อได้ เพราะว่าตัวกายกับตัวใจนี่แหละที่จะแสดงไตรลักษณ์ ถ้าเราไปดูของนอกมันจะดูไตรลักษณ์ได้ไหม ได้…แต่มันยาก แต่ถ้าเราดูที่กายที่ใจแล้วมันแสดงไตรลักษณ์ มันจะเข้าใจความจริงได้ง่ายกว่า ดังนั้นเล่าเป็นตัวอย่างของการภาวนาส่วนหนึ่งนะ มันเป็นมุมมองของครูบาเองที่เดินมา แต่พวกเราก็ลองปฏิบัติตามที่หลวงพ่อสอนดู อันนี้มาเล่าสู่กันฟังเฉยๆ เป็นเหมือนเพื่อนนักภาวนาด้วยกัน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คือมันไม่ได้มีหลักสูตรสําเร็จ มีอยู่แล้วก็คือในพระไตรปิฎกหรือที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อสอนแผนที่ไว้แล้ว ว่าแต่ละคนค่อยๆ เดินไปแบบนี้ๆ จะเจอแบบนี้นะ ถ้าเดินวิปัสสนาถูกจะเจอวิปัสสนูปกิเลสแบบนี้ เราคอยรู้ทันจิตที่มันฟุ้งซ่านออกไป ที่มันไม่ตั้งมั่น มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสนะ ถ้าเรารู้ทันตรงนี้ จิตอยู่กับเนื้อกับตัวก็เดินต่อได้ ค่อยๆ ฝึก

ครูบาฝึกตั้งแต่เป็นฆราวาส อันนี้เน้นย้ำว่าไม่ใช่ว่ามาบวชแล้วเพิ่งฝึกนะ ฝึกตั้งแต่เป็นฆราวาสอย่างพวกเรา ตั้งแต่อายุ 20 กว่า ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้ยากเกินความสามารถหรอก บางคนเรียนมา 10 ปี 20 ปี ก็ต้องอดทนต่อ ครูบาเรียนมาก็จะ 20 ปีล่ะ ตั้งแต่ปี 48 อีกปีหนึ่งก็ 20 ปีเหมือนกัน คือมันต้องค่อยๆ เรียนไป ท้อก็ไม่ว่านะ เพราะครูบาท้อมาน่าจะเกือบ 10 20 รอบใหญ่ๆ นะ เล็กๆ นี่อีกเยอะ เพราะเราอยากได้ดี แต่มันทําไม่ได้ ทําไงได้ ก็อาศัยอดทนค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นี่แหละ

เราภาวนามันไม่ได้ว่าจะต้องทําอะไรให้มันยุ่งยาก แต่มันอาศัยสิ่งที่เราอดทน อดทนที่จะเรียนรู้กาย อดทนที่จะเรียนรู้ใจ เห็นความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ เห็นไหม อย่างบางคนเห็นกิเลสเยอะ ก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ตัวเองไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ เห็นไหม มันไม่ต้องการเห็นความจริงของกายของใจเรา อยากจะบังคับให้ได้ว่ากายกับใจจะต้องสุข จะต้องไม่มีกิเลสสิ อันนั้นมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราภาวนานะหลวงพ่อบอกว่ามันไม่ได้อะไรเลย คือได้สัมมาทิฏฐิ

เบื้องต้นของสัมมาทิฏฐิคือ เห็นกายเห็นใจไม่ใช่เรา อันนี้เรามาถึงตรงนี้ อย่างน้อยตรงนี้ถ้าเราถึงได้ ภูมิธรรมอันนี้คือพระโสดาบัน ถ้าเราถึงได้เนี่ย เราก็เกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ ใจจะมั่นคงในพระศาสนา มั่นคงในพระพุทธเจ้ามากขึ้น มันจะไม่เชื่องมงายแล้ว ว่าใครไปไหว้โน่นไหว้นี่ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้รวย ให้เฮง มันจะไม่เชื่อแบบนั้นแล้ว มันเชื่อว่าคือ สิ่งที่มันเกิดตามกรรม เกิดจากเหตุ สิ่งที่เราเจอมันมีเหตุ ไม่ใช่แค่ขอ ขอนี่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ

ดังนั้นถ้าเราอยากจะพัฒนาในทางธรรม เราก็ต้องลงมือเหมือนกัน ลงมือเจริญสติไป ที่หลวงพ่อสอนท่านเปิดท่านเทย่ามแล้วจริงๆ นะ แต่แค่ว่าคนที่จะเอาจริงต่างหาก ที่จะลงมือทําจริงๆ ต่างหาก จะกล้าหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่จะชอบขอนู่นขอนี่ ขอให้ได้มรรคผลเร็วๆ เวลาเราทําบุญก็ขอให้ถึงนิพพานเร็วๆ ขอให้เป็นปัจจัยให้ถึงนิพพานโดยพลัน มันขอเอามันก็ได้กําลังใจ แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนั้นคือต้องลงมือทํา เราเคยอ่านในประวัติพระสาวกต่างๆ ใช่ไหม ท่านเอาในแง่มุมว่าท่านทําทานกับพระพุทธเจ้าองค์นั้นองค์นี้ยังไง แล้วในอนาคต ท่านก็พยากรณ์ว่า องค์นี้จะได้เป็นเอตทัคคะด้านโน่นด้านนี้ เราก็คิดว่าแค่ทําบุญทําทาน แต่ท่านต้อง ‘เจริญสติ’ เหมือนกัน สติปัฏฐานนี่แหละ แต่ท่านอบรมสั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติไม่ถ้วน นับภพนับชาติไม่ถ้วนถึงจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น และเป็นเอตทัคคะคือความเป็นเลิศในแต่ละด้านได้ แต่ท่านยกว่าทานมีผล บุญมีผล ท่านบอกในแง่นี้ และการกระทําก็มีผลเหมือนกัน

ดังนั้นถ้าเราเจริญสติ ก็ต้องมีผลของการเจริญสติ เจริญสมาธิ ก็มีผลของการเจริญสมาธิ จิตตั้งมั่นพอแล้วไปเจริญปัญญา ก็มีผลของการเจริญปัญญา เราก็ต้องฝึก ถ้าฝึกได้บ่อยๆ ตามที่หลวงพ่อสอนไม่นานหรอก แต่ก็ต้องอดทน ทําแล้วทําอีก มันจะเรียนรู้ซ้ำๆ แล้วมันเหมือนปอกลอกตัวเอง เหมือนที่ส่งการบ้านว่า “มันเห็นกิเลสเยอะเลย” นั่นแหละคือตัวจริงนะ ถ้าเราไม่มีกิเลสเราก็ไม่เกิดแบบนี้ล่ะสิ ใช่ไหม เรายังมีกิเลสเยอะ เราก็ต้องเกิดอีกใช่ไหม มันมีเหตุกับผลตรงกันอยู่แล้ว แต่พอเรามาภาวนาเนี่ย เราเห็นตัวเองว่ามันไม่ดีแบบนั้นไม่ดีแบบนี้ กิเลสเยอะนี่ มันยอมรับตัวเองไม่ได้ นั่นน่ะเรายังไม่ยอมรับความจริง เราอยากมาภาวนา เราต้องการเห็นความจริงของกายของใจ กิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส ไม่ใช่เราหรอก มันก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้นะ ใจก็ไม่ได้ทุกข์มาก ใจก็ไม่ได้สําคัญอะไรมาก แต่พอเราคิดว่านี่คือตัวเราจริงๆ นะ กิเลสก็ของเรา กูโกรธ กูโลภ กูหลง พูดหยาบๆ นะ ให้มันแสดงความรู้สึก แต่จริงๆ มันไม่มีหรอก ความโกรธก็อยู่ส่วนของความโกรธ จิตที่รู้ความโกรธก็อยู่ส่วนของจิต เห็นความโกรธไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป เห็นไตรลักษณ์ของมัน มันก็เจริญปัญญาแล้ว แต่เราแค่ยอมรับไม่ได้ว่ามีกิเลส มันก็เลยทุกข์

แต่คนส่วนใหญ่พอมีกิเลสแล้ว ถ้าไม่ได้ภาวนานะ คือทําตามใจกิเลส คือหลงกับกิเลสไปเลย อย่างอยากได้ อยากกินก็ไปซื้อของ ไปซื้อไปกินอะไรอย่างนี้ โกรธก็ไปว่าเขา อันนี้มันก็ไม่พัฒนาสักที อยู่ที่ว่าเราก็ต้องมาปอกเปลือกตัวเอง ปอกลอกตัวเองจากการมีสติ จะมีสติได้ต้องมีเครื่องอยู่ไว้อย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ พอรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ มีสติรู้ทันไปเรื่อยๆ จิตค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา พอตั้งมั่นขึ้นมา เราค่อยๆ ใช้จิตที่ตั้งมั่น มาเห็นรูปนามแสดงไตรลักษณ์ มันก็จะเป็นการเจริญปัญญาขึ้นมา อริยมรรคอริยผลก็ค่อยๆ เกิดขึ้น เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์ เราต้องค่อยๆ ฝึกตรงนี้ถ้าศีลยังบกพร่องก็ต้องรักษาไว้ อย่างบางคนชอบพูดเยอะ มีโอกาสผิดศีลข้อ 4 ได้ง่าย เราก็ต้องเก็บปากเก็บคําไว้ บางคนต้องมีไปสังสรรค์กับเพื่อนแล้วก็ยังต้องไปกินเหล้า ถ้าเลิกได้ก็ควรจะเลิก เพราะมันทําให้เสียสติ ถ้าเราอยากจะได้ดี พระพุทธเจ้าท่านสอนหลักสูตรไว้ คือ ‘ไตรสิกขา’ คือทํายังไงให้มีศีล ทํายังไงให้มีสมาธิ ทํายังไงให้มีปัญญา ที่จะทําได้ดีก็คือต้องมีสติไว้

พระธนุสรณ์ จิรสรโณ (ครูบาม่อน)
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
12 พฤษภาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/vBKus9uBnQ0?si=NcsEUtWikh3nowxr

#ทำกรรมฐานที่เนื่องด้วยกายที่เนื่องด้วยใจ #กรรมฐาน #รู้ทันจิต #ดูร่างกายเคลื่อนไหว #ดูร่างกายหายใจ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงพ่อปราโมทย์ #พระธนุสรณ์จิรสรโณ #พระธนุสรณ์ #ครูบาม่อน #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงปู่ปราโมทย์ #วิหารธรรม #สติปัฏฐาน #กายเวทนาจิตธรรม #เป็นเครื่องอยู่ของจิต #รู้นามธรรม #รู้จิตใจ #ใจไหลออกไป #รู้ทันจิต #จิตตั้งมั่น #สติ #สมาธิ #สมาธิที่จิตอยู่กับอารมณ์เดียว  #ให้จิตมันเคลื่อนไหว #ลักขณูปนิชฌาน #อารัมมณูปนิชฌาน #ไตรลักษณ์ #รู้ทันสภาวะ #วิปัสสนา #ภาวนา #เจริญสติ #คอยรู้ทันจิตที่มันฟุ้งซ่าน #สัมมาทิฏฐิ #เห็นกายเห็นใจไม่ใช่เรา #เจริญสมาธิ #มิจฉาทิฏฐิ #กิเลส #ความจริงของกายของใจ #ไตรสิกขา #อริยมรรคอริยผล #ศีล #สมาธิ #ปัญญา #รูปนามแสดงไตรลักษณ์ #บ้านจิตสบาย 


ทำกรรมฐานที่เนื่องด้วยกายที่เนื่องด้วยใจ