พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

ทำสมถะด้วยใจที่พร้อมจะเผลอ

วันที่ 28 มกราคม 2567  

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายนะ คือไม่ได้บังคับให้มันไม่เผลอ เผลอก็ได้ เผลอแล้วรู้เอา มุมอย่างนี้มันง่าย แต่ความยากก็คือว่าคนส่วนใหญ่เวลาจะคิดถึงเรื่องปฏิบัติ ภาพของนักปฏิบัติของคนที่ยังไม่ปฏิบัติ ก็คือสงบ เราก็อยากจะสงบ ใช่ไหม เราอยากจะสงบนะ พอเริ่มต้น พอเจตนาจะปฏิบัติ หรือเจตนาจะภาวนา ก็เอาสงบเป็นเบื้องต้น แล้วเป็นเป้าหมายเลย ไม่ได้เป็นเบื้องต้นนะ เป็นเป้าหมายเลย

พอเป็นเป้าหมายแล้วพอทำไม่ได้ ก็ไม่สำเร็จ ไม่บรรลุเป้าหมาย KPI ไม่ผ่าน ทำใหม่นะ ยังต้องเจตนาทำอยู่นะ แต่เจตนานี้เอาแค่ว่า เริ่มต้นก็พร้อมจะเผลอ ท่าทีในการมองจิตที่เผลอมันจะเปลี่ยนไป ตอนที่เห็นความเผลอแล้วรู้สึกว่ามันล้มเหลว หรือว่าใช้ไม่ได้ มันก็ อ๋อ…กะแล้ว นึกออกไหม พร้อมจะเผลอ คือ เผลอเหรอ เออ…เห็นละ ตอนเห็นแล้วอ๋อ…อย่างนี้นะ มันคือดูด้วยจิตที่เป็นกลางหรือถ้ายังไม่เป็นกลางจริง ก็ใกล้จะเป็นกลาง อ๋อเนี่ยบางทีมันก็ดีใจนะ อ้า…เห็นแล้ว คือไม่ค่อยเป็นกลางเท่าไหร่ มันดีใจ แต่ใกล้เป็นกลางมากกว่า เหมือนลูกตุ้มที่มันแกว่งเลยนะ ตอนที่อยากสงบเนี่ยนะพยายามดึงไปสักเท่านี้ แล้วหมดแรงบังคับตัวเองนะ ลูกตุ้มก็แกว่งฟู้…ไปนู่นเลย

จุดตรงกลางเนี่ยนะ ตอนรู้ที่ใจเป็นกลางทำไม่ได้ ทำไม่ทัน เพราะมันไปหงุดหงิดซะแล้ว คืออยากสงบมาก เวลาหมดแรงบังคับ มันก็ไปด้านที่หงุดหงิด มันแกว่ง มันไม่ใกล้กลาง แต่ถ้าทำแค่เจตนามานิดหนึ่ง พอได้เริ่มต้น เจตนามานิดหนึ่งว่า “ฉันจะทำสมถะแล้วนะ ด้วยใจที่พร้อมจะเผลอ” พอเผลอปุ๊บ มันอาจจะดีใจที่ได้เห็นสภาวะ เห็นแล้วว่าเผลอเป็นอย่างนี้ เริ่มต้นใหม่ มันใกล้กลาง แต่ถ้าเจตนาแรงที่จะเอาความสงบเนี่ย พอไม่สงบนะ ไม่ได้กลาง แค่ว่าทำสมถะด้วยจิตที่พร้อมจะเผลอ มันเผลอไปนิดหนึ่ง เห็นล่ะ แล้วอาจจะดีใจแต่ใกล้กลาง พอเห็นอย่างนี้นะ มันเริ่มมีทักษะในการเห็น แล้วมันเริ่มเห็นว่าเมื่อกี้เราก็จิตไม่เป็นกลางในการมอง มันก็เริ่มเข้าใจ ค่อยๆ แค่รู้ แค่ดู มันก็ปึ๊งขึ้นมาได้เลย พอแค่รู้แค่ดู เข้าใจเลย เข้าใจเลยว่า ‘มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาดับไปแล้ว’ ทำไมเราภาวนาแล้วมันไม่เกิดปัญญาสักที เพราะว่าเจตนาสงบเกินไป เจตนาจะเอาความสงบมากเกินไป พอมันไม่สงบ รู้สึกล้มเหลว ฟาวล์ หรือว่าแพ้ พ่ายแพ้ 

งั้นเริ่มต้นเจตนาไว้หน่อยๆ แล้วก็ทำไว้ในใจว่า เผลอก็ได้ ไม่เผลอก็ได้ เผลอก็รู้ ไม่เผลอก็รู้ เเละด้วยท่าทีที่พร้อมจะเผลอ เผลอก็ได้ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า “ทำสมถะด้วยจิตที่ควรแก่การงาน” ‘ควรแก่การงานคืองานวิปัสสนา’ งานที่เราจะทำนี่คืองานวิปัสสนา ทำด้วยใจไม่พร้อมจะเผลอ ยังไม่พร้อมจะทำงาน ยังไม่พร้อมเจริญปัญญา จิตที่พร้อมจะเผลอ พอเผลอปุ๊บแล้วก็แค่รู้ ถ้ายังไม่แค่รู้ก็ดีใจนิดๆ หรือหงุดหงิดนิดๆ อะไรอย่างนี้นะ แต่หงุดหงิดจะไม่ค่อยหงุดหงิดแล้ว ถ้าทำท่าทีแบบนี้นะ จะไม่ค่อยหงุดหงิด แต่มันจะเพี้ยนไปทางดีใจ เห็นแล้วดีใจ ดีใจนี่ก็ไม่เป็นกลาง มันต้องเห็นเฉยๆ 

ตอนที่จะบรรลุมรรคผลนี่นะ มันต้องเป็นกลางกับความปรุงแต่ง จะติดไปทางดีใจก็ไม่ได้ ไปทางเบื่อก็ไม่ได้ มันต้องเป็นกลาง เป็นกลางกับความปรุงแต่ง ตรงนี้เรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” สังขารก็คือความปรุงแต่ง บวกกับอุเบกขา สังขารลงท้ายด้วย ร เรือ ใช่ไหม มาบวกกับคำว่าอุเบกขา สนธิกัน เรียกคำสนธิ เป็น ‘สังขารุเปกขา’ มาต่อด้วยคำว่า ‘ญาณ’ ญาณคือความหยั่งรู้ ความหยั่งรู้ที่ได้มาจากการวางเฉย หรือเป็นกลางกับความปรุงแต่ง 

ตรงนี้มันก็ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้มันเป็นกลางนะ บังคับไม่ได้ มันต้องผ่านการไม่เป็นกลางมา แล้วก็รู้ทัน ไม่เป็นกลางแล้วรู้ทัน แต่ถ้าไม่เป็นกลางแบบสุดๆ เลย รู้ทันมันก็ยากอยู่ มันต้องให้มันใกล้กลางนิดหนึ่ง ดีใจก็น้อยๆ ไม่พอใจก็น้อยๆ ประมาณนี้นะ ไม่ใช่ว่าหงุดหงิดกับตัวเองเมื่อไหร่จะได้สักที ท่าทีตอนหงุดหงิดในลักษณะที่ว่าเห็นเผลอ แล้วมันรู้สึกว่าล้มเหลว หรือว่าใช้ไม่ได้นี่นะ มันทำให้ตอนเริ่มต้นทำสมถะใหม่เนี่ย มันเจตนาแรง รุนแรงมากขึ้น วงจรก็จะกลายเป็นยิ่งเพิ่มความบีบบังคับ พอเผลอไปก็ไม่ชอบใจ ผิดหวัง เหมือนลูกตุ้มที่อาตมายกตัวอย่าง ยิ่งยกไปทางใดทางหนึ่งมาก เวลาหมดแรงปล่อยแล้ว ลูกตุ้มมันก็แกว่งไปอีกทาง ไกล ไกลพอๆ กับที่ตัวเองเหวี่ยงเอาไว้ ตั้งเอาไว้ แต่ถ้าตั้งเบาๆ พอมันหลุดมาก็แกว่งใกล้ๆ กลาง

บางทีมันเพลินในการเห็นเกิดดับนะ เคยได้ยินคำว่าเห็นจิตมันไหวๆ ไหม คือเห็นเกิดดับนะ แต่ว่ามันเห็นมันไหวๆ มันไม่ได้มองลักษณะเกิดดับนะ มันเห็นว่ามันมีอะไรเคลื่อนไหว แต่เคลื่อนไหวในลักษณะอยู่ตรงนี้ แล้วก็ไปสนใจมัน อันนี้เรียกว่าถลำ สนใจมันไม่ได้แค่รู้แค่ดูนะ มันสนใจ มันชะโงกไป ถ้าแค่รู้แค่ดู ก็แค่รู้แค่ดูใช่ไหม อันนี้ไม่ใช่แค่รู้แค่ดู มันสนใจเข้าไป สนใจก็ถลำ เพลิน เพลินในการมองอะไรที่มันปรากฏขึ้นมาแว็บๆ เหมือนเวลาเราเห็นไฟระยิบระยับแล้วก็สนใจประมาณนี้ ไม่ได้มองในแง่เกิดดับ เห็นว่ามันระยิบระยับ บางทีก็มีคนส่งการบ้านบางคนบอกว่าเห็นมันแว็บๆ เห็นมันไหวๆ ถ้าไหวๆ เห็นเป็นปรากฏการณ์อย่างนั้น มันไม่ได้มองในแง่เกิดดับ จริงๆ สภาวะมันคือเกิดดับอยู่  แต่ไม่ได้มองในแง่เกิดดับ มันมองในแง่เหมือนอะไรที่มันแว็บๆ เหมือนไฟแว็บๆ

เคยดูพลุไหม ปีใหม่ใครไปเคานต์ดาวน์จุดพลุดูพลุบ้างไหม ครั้งหนึ่งนะ ทางสุรินทร์ตอนสมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ ก็จัดงานใหญ่ ผู้ว่าจัดงานใหญ่มีจุดพลุ ซึ่งสมัยนั้นหาดูยาก จุดพลุดอกไม้ไฟ เขาเรียกดอกไม้ไฟ ก็นิมนต์หลวงปู่ดูลย์ไปดู เพราะว่าเป็นเรื่องพิเศษที่หาดูได้ยาก สวยงาม คนชาวเมืองสุรินทร์ก็ ทุกครั้งที่มันจุดขึ้นไปแล้วปุ้งขึ้นมานี่นะ แล้วก็เสียงเฮ้ๆ สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ จุดจนจบผู้ว่าก็ถาม “สวยไหมครับหลวงปู่” หลวงปู่ตอบว่า “มันเกิดดับเร็ว” ไม่ได้บอกว่าสวยหรือไม่สวยนะ ถามว่าสวยหรือไม่สวย สวยไหมครับหลวงปู่ มันเกิดดับเร็ว วาบดับ วาบดับ ไม่ได้มองด้วยความยินดี แล้วก็ไม่ได้ยินร้าย คือ พากูมาทำไม ประมาณนี้ ไม่ได้คิดอย่างนี้ด้วยนะ นิมนต์มาก็มา มีสิ่งเกิดดับให้ดู ไม่ได้ถลำไปที่ตัวปรากฏการณ์นั้น ก็แค่ดู ก็เห็นว่ามันเกิดดับ นี่คือมุมมองของครูบาอาจารย์เวลาที่ท่านเห็นปรากฏการณ์ แต่เราเวลาเห็นอะไร เราก็สนใจ เอาล่ะวะ อันนี้แหละดีแล้ว จับเข้าไป ตรงนี้เรียกว่าจิตไหล จิตไหลเข้าไป จิตเคลื่อนเข้าไป เห็นจิตเคลื่อนใช้ได้อยู่นะ ตรงนี้ถ้าสังเกตจิตเคลื่อนได้ก็จะง่ายขึ้น ง่ายขึ้นเยอะเลย

มีพระอยู่รูปหนึ่งภาวนาแล้วเห็นสว่าง เห็นเป็นแสง ภาวนาแล้วเห็นเป็นแสง ก็รู้สึกว่าตั้งแต่เห็นแสงมาแล้วนะ รู้สึกภาวนาง่ายขึ้น คือเริ่มกำหนดแสงขึ้นมาใจก็ไปอยู่ที่แสง รู้สึกดีจัง สบาย ก็ใช้แสงนั่นแหละเป็นอารมณ์กรรมฐานเลย ก็ไปปรึกษาพระอาจารย์อ๊า นี้เรื่องของพระที่วัดสวนสันติธรรม เผอิญว่าได้คุยกับท่าน มาคุยตอนที่ท่านสึกแล้ว แต่ท่านภาวนาดีนะ ตอนนั้นท่านก็ไปปรึกษาพระอาจารย์อ๊า เหมือนไปส่งการบ้านว่าตอนนี้มีแสง พระอาจารย์อ๊าก็บอกว่า มาบวชชั่วคราว ท่านบวชชั่วคราวที่ว่าสึกแล้วคือครบกำหนดเลยสึกออกมา เนี่ยท่านบวชชั่วคราว ถ้าจะทำสมาธิแบบนี้นะ มันก็ได้แต่มันเป็นสมาธิแบบพักผ่อน จิตไปรวมอยู่กับแสง คือจิตรวมอยู่กับอารมณ์ มันคือ ‘อารัมมณูปนิชฌาน’ ทำแบบนี้มันเสียเวลา เอาอย่างนี้ดีกว่า เห็นจิตที่มันเคลื่อนไปที่แสง จะได้สมาธิที่ดีกว่า คือ ‘ลักขณูปนิชฌาน’ มีเวลาบวชน้อย ทำของดีก่อนดีกว่า แสงก็มี ไม่ปฏิเสธนะ มันสนใจถลำไป เห็นจิตถลำอย่างนี้นะ จะได้จิตตั้งมั่นขึ้นมา ให้ไปดูอย่างนี้ ให้การบ้าน ท่านก็ไปทำ ทำแล้วก็เห็น แสงมันก็เห็นอยู่แล้ว เริ่มต้นแบบเดิมจนเห็นแสง แสงปรากฏก็สนใจแสง พอสนใจแสงถลำไปเลย เห็นจิตเคลื่อน จิตเคลื่อนก็ถอนออกมาเป็นตั้งมั่น แสงถูกรู้ ถูกดู แล้วเดี๋ยวก็ถลำไปอีก เพราะมันยังเห็นอยู่ มันยังเห็นแสงอยู่ ก็ถลำอีก เห็นจิตเคลื่อนไป ตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ หมดแรงตั้งมั่นก็ถลำไปใหม่ พอถลำอีก รู้ทัน ก็ตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ ไม่นานนะ จนสวดมนต์ทำวัตรอยู่ ปรากฏว่ามีสภาวะแปลกๆ เกิดขึ้น เหมือนมันแหวก ท่านเล่าประมาณนี้นะ เหมือนมันแหวก ก็เออ แปลกดี แหวกออกไป แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วก็ไม่คิดว่าเป็นอะไร นึกว่าเป็นสภาวะอะไรแปลกๆ จริงๆ แล้วคือเกิดมรรคผลเกิดขึ้น เล่ามานี่ก็อันตรายเหมือนกันนะ คือว่าเดี๋ยวโยมจะไปแหวกเอาเอง เอาละวะ กูจะแหวกแล้ว มันต้องได้จิตตั้งมั่นก่อน ‘จิตตั้งมั่นก็แค่รู้แค่ดู’ ถ้าเห็นอะไรแล้วก็สนใจ มันไม่ใช่แค่รู้แค่ดู นึกออกไหม มันถลำลงไป

เจอคนสวย สนใจก็ถลำไปหาคนสวย เจอคนหล่อก็ถลำไปหาคนหล่อ เจอศัตรูก็ถลำไปนะ นางนี่มาแล้วไปแล้ว ไปหานางนี่แล้ว อีตานี่มาแล้วไปหาอีตานี่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ห้าม ความง่ายของการปฏิบัติคือ ไม่ได้ห้าม ไม่ได้ห้ามว่าอย่าเจอนางนี่ ห้ามไม่ได้ เจอแล้วจะไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ห้ามด้วย โกรธก็ได้ คือจริงๆ ตั้งแต่เจอนางนี่แล้วจิตมันถลำไปหานางนี่แล้วเนี่ยนะ ถ้าเจอศัตรูของเรา นางนี่มาแล้ว ถ้าเห็นตั้งแต่แรกเลย แล้วใจเราถลำไปหานางนี่เลยนะ ก็ได้ตั้งมั่นเลย แต่ไม่เห็นตอนถลำไป ไปโกรธแล้ว เกิดเป็นโกรธ โกรธขึ้นมาแล้วรู้ว่าโกรธก็ยังดีนะ แต่ตอนโกรธแล้วรู้ว่าโกรธนี้อาจจะยังไม่ตั้งมั่นทันที ‘จะตั้งมั่นทันทีต่อเมื่อเห็นความโกรธด้วยใจเป็นกลาง’ แต่บางทีมันเห็นความโกรธเฉยๆ เห็นความโกรธเฉยๆ ได้แค่สติ นี่ยังดีนะ คือเห็นว่าจิตมันโกรธ แต่ถ้าเห็นว่า ฉันโกรธอันนี้ไม่ใช่นักภาวนา ยังแค่คนทั่วไป ฉันโกรธ เฮ้ย ฉันโกรธ อย่างนี้

พอฉันโกรธนะ ไม่หายโกรธนะ บางคนเหมือนกับว่า เรามีสติแล้วทำไมโกรธไม่ดับ เพราะมันเป็น ‘ฉันโกรธ’ ความรู้สึกฉันโกรธ นี่มันเหมือนตอกย้ำว่าควรจะโกรธต่อ หรือไม่ก็ ฉันโกรธแล้วนะ อย่ามาพูดมากกว่านี้อีกนะ หรืออย่ามาทำอะไรเกินไปกว่านี้อีกนะ มันเป็นการตอกย้ำว่า ฉันโกรธ แต่ถ้าเห็นว่าจิตมันโกรธนะ อย่างนี้เรียกว่ามีสติปัฏฐาน สติปัฎฐานในพระสูตรจะบอกว่า ‘จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ’ ไม่ใช่ว่า คุณมีราคะ ก็ให้รู้ว่าคุณมีราคะ ไม่ใช่ ฉันมีราคะ ให้รู้ว่าฉันมีราคะ ก็ไม่ใช่
จิตมีราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือ จิตไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ก็รู้
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
ไม่ได้เป็น ‘ฉัน’ ไม่ได้เป็น ‘เธอ’  ไม่ได้เป็น ‘คุณ’ 
เป็น ‘จิต’ มันเป็นอย่างนั้น

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
สวนธรรมประสานสุข จังหวัดชลบุรี
28 มกราคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย

ที่มาคลิปเต็ม: https://www.youtube.com/live/b3FY8eZqmPo

#จิตที่ควรแก่การงาน #จิตตั้งมั่น #วิปัสสนา #อารัมมณูปนิชฌาน #สติปัฎฐาน #สังขารุเปกขาญาณ #ลักขณูปนิชฌาน #จิตที่ตั้งมั่น #ตั้งมั่น #จิตที่พร้อมจะเผลอ #พระอาจารย์กฤช #พระอาจารย์กฤชนิมฺมโล #นิมฺมโล #เป็นกลางกับความปรุงแต่ง #เห็นเกิดกับ #เห็นจิตเคลื่อน #แค่รู้แค่ดู #ความปรุงแต่ง #ถลำไปดู #เผลอก็รู้ไม่เผลอก็รู้ #ทำสมถะ #เจตนาจะปฏิบัติ #ทำสมาธิ #กรรมฐาน #ดูด้วยจิตที่เป็นกลาง #ปฏิบัติธรรม #ฝึกสติ #การเจริญสติ #สัมมาสติ #บ้านจิตสบาย 


ทำสมถะด้วยใจที่พร้อมจะเผลอ