พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ

ฝึกจิตตั้งมั่น

วันที่ 14 กรกฎาคม 2567  

นี่ท่านก็เลยบอกว่าวิธีการฝึกให้จะ ‘ตั้งมั่น’ ง่ายๆ นะ ก็คือไปทำรูปแบบสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด บางคนจะดูร่างกายหายใจเข้า ร่างกายหายใจออกก็ได้ บางคนจะพุทโธก็ได้ บางคนจะเดินจงกรมก็รู้ร่างกายก็เดินไป ฝึกกรรมฐานอันหนึ่งที่เราถนัดๆ ดูไปบ่อยๆ อย่างเราดูร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ดูไปเรื่อยๆ พอดูไประหว่างที่ดูลมหายใจ มันไหลแว้บไปให้รู้ทัน แล้วก็กลับมาดูลมหายใจใหม่ ใจมันหาย..ใจมันแว้บหนีไปอีก..เราก็รู้ทัน แล้วก็กลับมาดูลมหายใจของเราใหม่ ฝึกไปอย่างนี้ ถ้าวันไหนจิตมันจำสภาวะของการที่จิตมันไหลไปได้..หลงไปได้ แล้วพอเวลาจิตมันไหลไป..หลงไป มันรู้ทันนะ ตัวนี้มันจะเกิด ‘จิตตั้งมั่น’ ขึ้นมาได้ เกิด ‘จิตที่รู้สึกตัว’ ขึ้นมาได้

ตัวนี้นะเวลาพูดมันง่ายนะ แต่เวลาฝึกจริงๆ จะค่อนข้างยาก ที่มันยากเพราะยังไง  อย่างเวลาเราหายใจนะ เราไม่เห็นนะว่าจิตเราไหลไปทางไหน หลงไปทางไหน ส่วนใหญ่เวลาเราดูลมหายใจ ถ้าเราตั้งใจนิดเดียว จิตก็จะไปอยู่ที่ลมหายใจ ยิ่งบางคนที่หายใจแล้วก็ดูตามลมที่มันเคลื่อนเข้ามาเรื่อยๆ ดูลมที่ออกไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยนะ อันนี้จิตจะไหลไปอยู่ที่ลม ที่หลวงพ่อบอกว่าให้เปลี่ยนใหม่นะให้มาดูร่างกายมันหายใจออก จริงๆ ถ้าพูดง่ายๆ ร่างกายหายใจออก คือรูปที่หายใจออก..รูปที่หายใจเข้า มันจะไม่ได้ไปโฟกัสที่ลม แต่มันจะเห็นว่า ร่างกายเคลื่อนไหว แต่ร่างกายเคลื่อนไหวคือร่างกายหายใจออก รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า ตัวนี้เข้าใจยากนิดนึงแต่ว่าค่อยๆ ฝึกเอา 

แต่ว่าจริงๆ พระอาจารย์ไม่ถนัดหรอกนะ ตัวอานาปานสติไม่ค่อยถนัด ถนัดเคลื่อนไหวแล้วหยุดนิ่งอะไรอย่างนี้ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก..หยุดนิ่งแล้วรู้สึก เราต้องฝึกสติของเราเรื่อยๆ นะ แล้วก็คอยรู้ทันจิตใจตัวเอง อย่างบางทีเราเคลื่อนไหวเรารู้สึก บางทีใจไหลแว้บไป..คอยรู้ทัน ถ้าเรารู้ทันได้นะ จิตที่ไหลดับไปมันจะเกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมาเอง หรือว่าอย่างเราเดินจงกรม เราเห็นร่างกายมันเดิน เราเดินเห็นร่างกายมันเดิน ร่างกายมันหยุด ร่างกายมันกลับตัวอะไรอย่างนี้นะ เดินไปเดินมาใจไหลแว้บไปเราคอยรู้ทัน หรือว่าเราเดินจงกรมนะจิตไหลไปที่เท้าเรารู้ทัน หรือเดินจงกรมใจไหลไปคิดอย่างนี้เราคอยรู้ทัน ถ้าเรารู้ตัวนี้ได้บ่อยๆ นะ ต่อไปเราเดินจงกรมใจไหลไปที่เท้าเรารู้ทันนะ จิตที่ไหลมันจะดับ มันจะเกิดจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเอง หรือบางทีใจมันไหลไปคิด เรารู้ทัน ใจที่ไหลคิดดับมันจะเกิดจิตที่รู้สึกตัวขึ้นมา เนี่ยเราค่อยๆ ฝึกนะ ถ้าเราไม่เข้าใจตัวนี้ส่วนใหญ่เวลาที่เราปฏิบัติจะไปติดเพ่ง

ติดเพ่ง แต่ว่าส่วนใหญ่ถ้าคนเมืองส่วนใหญ่ เวลาทำรูปแบบก็จะไหลไปคิด..ไหลไปฝันๆ มันสุดโต่งไป 2 ข้าง มันไม่รู้สึกตัว แต่ว่าถ้าเราทำรูปแบบนะ ใจไหลไปเพ่งเรารู้ ใจก็จะตื่นออกมา หรือว่าเราทำรูปแบบแล้วใจไหลไปเพ้อๆ ฝันไปหลงไปคิดนะ เรารู้ทันใจมันจะตื่นออกมา แต่ว่าตัวนี้ไม่ใช่ว่าทำครั้งสองครั้งมันจะตื่นนะ มันต้องค่อยๆ ให้เห็นสภาวะจริงๆ มีความจำเป็นนะเวลาเราทำรูปแบบมันต้องให้ ‘เห็นจิตตัวเอง’ ถ้าเราไม่เห็นจิตตัวเอง ส่วนใหญ่มันจะไม่รู้ว่าใจมันไหลไปที่ไหน ส่วนใหญ่จะไหลไปที่กรรมฐานที่เราทำ หรือไม่ก็ไหลไปคิดไปฟุ้งซ่าน ก็ไม่ต้องใครหรอกอย่างพระอาจารย์เอง อย่างเวลาเราเดินจงกรมนะ เดินไปได้ไม่กี่ก้าวนะ ใจมันไหลไปคิดนะ บางทีคิดไปตั้งนานนะ คิดตั้งแต่ต้นทางจนจะกลับตัวแล้วเพิ่งรู้..อ้าวมันไหลไปคิดนี่ 

ส่วนใหญ่นะนักปฏิบัติพอมันไม่รู้ทันจิตตัวเอง ถ้าภาษาของนักปฏิบัติเรียกว่าไม่มีสติ ถ้าสมมุติเราเดินไปแล้วใจมันลอย เราก็แค่รู้ใจมันลอย เดินไปแล้วใจมันหลง เรารู้ว่ามันหลง เดินไปแล้วใจมันไหลไปที่เท้า เรารู้ทันว่าใจไหลไปที่เท้า ฝึกรู้สึกอย่างนี้ไปบ่อยๆ แล้วเดี๋ยววันหนึ่งมันจะรู้สึกตัวขึ้นมาได้ 

มีความจำเป็นนะที่นักปฏิปฏิบัติจะต้องทำรูปแบบ เราต้องไหว้พระสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม แต่ว่า ‘นั่งสมาธิ’ หรือว่า ‘เดินจงกรม’ ถ้าพูดง่ายๆ มันจะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำแบบพักผ่อน ทำแบบพักผ่อนก็คือ สมมุติเราจะพุทโธก็ให้จิตไปอยู่กับพุทโธสบายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ เพราะเราจะทำสมาธิพักผ่อน

‘สมาธิพักผ่อน’ ทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อให้จิตมันมีกำลัง ปกติถ้าอยู่ดีๆ เราจะมารู้สึกตัวเลย ส่วนใหญ่มันไม่ค่อยรู้สึกหรอก จิตที่มันไม่มีกำลัง ส่วนใหญ่มันจะไหลไปฟุ้ง เพ้อๆ ฝันๆ ฟุ้งไป ภาษาที่เมื่อก่อนเขาเรียกฝันกลางวันเรารู้สึกไหม เราใช้ชีวิตของเราปกตินะแต่ใจมันแอบไปคิดอะไรฝันๆ ไปเรื่อยๆ มันไม่ตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง เราทำกรรมฐานก็เหมือนกันนะ เราต้องค่อยๆ มีสติ อย่างเราพุทโธ..พุทโธ แล้วก็คอยรู้ที่พุทโธบ่อยๆ ตอนนี้คือเราจะทำสมาธิแบบพักผ่อน ถ้าเราให้จิตไปอยู่กับพุทโธได้บ่อยๆ จิตมันมีความสุขไปรู้อารมณ์อันหนึ่งที่มันชอบ เดี๋ยวใจมันจะค่อยๆ สงบขึ้นมาเอง แล้วมันจะได้สมาธิแบบอารัมมณูปนิชฌานสมาธิแบบพักผ่อน..สมาธิตัวนี้มีความจำเป็นนะ ถ้าไม่มีตัวนี้ส่วนใหญ่จิตมันจะล่องๆ ลอยๆ มันจะดูสภาวะยาก

ที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านเล่าให้ฟังนะ ตอนเด็กๆ ที่ครูบาอาจารย์สอน หายใจเข้าพุท..หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุท..หายใจออกโธนับ 2 แล้วก็นับไปจนถึง 100  ท่านบอกว่าท่านทำอย่างนี้แหละ แล้วสักพักจิตก็รวมสงบ..รวมเข้ามาเกิดเป็นแสงสว่าง อันนี้มันคือสมาธิแบบพักผ่อนนะ สมาธิแบบความสงบ แล้วท่านมีสมาธิพวกนี้ท่านทำของท่านไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเวลาที่ท่านจะมาต่อยอด ท่านเลยมีพื้นฐานสมาธิสูง แต่สมาธิตัวนี้ถ้าเรารู้เคล็ดลับในการภาวนามันก็ทำง่าย เราเลือกอารมณ์อันหนึ่งนะที่ใจเราชอบ อย่างคนชอบ ‘พุทโธ’ เราก็ไปพุทโธ บางคนชอบลมหายใจก็ไปดูลมหายใจ บางคนชอบเคลื่อนไหวก็ไปดูร่างกายเคลื่อนไหว..ร่างกายหยุดนิ่งอะไรก็ได้ แล้วก็ให้ตอนที่เราทำนะ ให้จิตเราไปรู้อารมณ์สบายๆ ใจมันจะได้ความสงบขึ้นมา แต่ว่าไม่ใช่ไปทำแป๊บๆ มันจะได้ความสงบนะ ต้องทำไปจนจิตมันชินที่จะไม่หนี อันนี้เราพูดถึงสมาธิแบบพักผ่อนก็เลยไม่ได้เน้นว่าจะต้องรู้ทันจิตที่มันคอยหนีไป แล้วคอยให้จิตมันรู้อารมณ์อันหนึ่งอยู่ที่อารมณ์อันเดียวสบายๆ ไปเรื่อยๆ มันจะได้สมาธิพื้นฐาน สมาธิแบบความสงบขึ้นมา 

ถ้าเราได้สมาธิตัวนี้แล้วเราต้องไปต่อยอดพัฒนาเป็น ‘สมาธิที่มันตั้งมั่น’ ขึ้นมา สมาธิที่มันตั้งมั่นที่
ครูบาอาจารย์สอนนะ “ให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น” ดูเหมือนง่ายนะเวลาพูดน่ะง่าย แต่จิตที่ไม่ตั้งมั่นมันดูยาก 

ถ้าเราไม่มีสติรู้ทันจิตที่มันหลงไป จะไม่มีทางรู้ทันจิตที่มันตั้งมั่นเลย ตอนที่พระอาจารย์รู้ทันจิตตัวนี้ครั้งแรกเนี่ย มันเกิดจากที่เราฝึกสมาธิพื้นฐานของเราสมาธิความสงบของเราไป เราพุทโธ..พุทโธอะไรของเราไปสบายๆ ไป พุทโธไปทั้งวัน แล้ววันหนึ่งเพื่อนมันยั่วมาพูดยั่วปุ๊บ..โทสะมันพุ่งขึ้นมา โทสะพุ่งขึ้นมาเรามีสติรู้ทันโทสะมันดับไป ใจก็รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมาขณะหนึ่ง 

แต่นั้นยังจับไม่ได้ว่ามันคือ ‘สมาธิแบบตั้งมั่น’ ก็เห็นว่าเออแปลกดีนะ แค่มีโทสะมันเกิดขึ้นมา เรามีสติรู้ทันโทสะมันดับไปเลย เกิดจิตที่ตั้งมั่นเบิกบานมีความสุขขึ้นมา คล้ายๆ จากจิตที่มีโทสะกำลังจะอารมณ์

ร้าย..กลายเป็นจิตมีความสุข เบิกบานอิ่มอยู่ในตัวนะ เออเป็นสภาวะที่แปลก แต่ตอนนั้นยังจับไม่ได้ว่ามันเป็นจิตที่ตั้งมั่น พอมันจับไม่ได้ ตอนหลังก็เลยไปทำสมาธิ เลยไปติดเพ่งเหมือนที่พวกเราปฏิบัตินะ ส่วนใหญ่พอเราทำรูปแบบ มันจะไปติดเพ่ง พอไปติดเพ่งนานๆ หลวงพ่อเลยถามว่า “ไปดูมันทำไม ไอ้ตัวที่ไปเพ่งนั่นน่ะ” เราก็บอก “อ้าว..ไม่ดูมันแล้วจะทำภาวนายังไง” พอท่านบอกว่าอย่าไปดูมัน ท่านบอกว่าไปดูมันทำไมนะ เลยไปเลิกดู พอเลิกดูนะ เห็นใจที่มันลอย ใจที่มันหลงได้ พอใจมันลอยนะ สติรู้ทัน..ใจที่ลอยมันดับเกิดจิตที่มันรู้สึกตัวตั้งมั่นขึ้นมา แล้วจิตตั้งมั่นไหลมันก็ดับนะ เกิดจิตที่ไหลไปใหม่

พอเรามีสติรู้ทันจิต จิตที่ไหล จิตที่ไหลดับเกิดจิตที่มันตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ เลยจับเคล็ดลับได้ว่า อ๋อ..เข้าใจแล้วว่าจิตที่มันตั้งมั่น ที่แท้มันคือรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นนั่นแหละ แต่ว่าตอนที่เรารู้ มันต้องไม่มีความจงใจ อย่างเราเห็นเราฝึกกรรมฐาน สมมติใจมันไหลไป..เรายังจงใจที่จะไปดูจิตที่มันไหลไป ยังไงจิตก็ไม่ตั้งมั่น แต่ว่ามันต้องหัดดูไปก่อน ดูจนวันหนึ่งมันจำได้ว่าจิตที่ไหลเป็นแบบนี้แล้วมันไหลไปแล้ว เราไม่ได้เจตนาจะดู
จิตที่ไหลมันดับ มันจะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา ตัวที่เห็นว่าจิตที่มันไหลไปคือตัวมี ‘สติ’ นั่นแหละ มีสติรู้ทันจิตที่มันไหลไป จิตที่ไหลดับมันจะเกิดจิตรู้สึกตัวตั้งมั่นขึ้นมา

แต่ว่าวิธีนี้มันจะได้ทีละขณะ แต่ว่าทีละขณะถ้าเราดูบ่อยๆ นะมันก็เหมือนทรงสมาธิแบบตั้งมั่นขึ้นมาได้ แล้วทีละขณะ..ทีละขณะ ที่มันตั้งมั่นแบบนี้จะมีประโยชน์กับพวกเราเยอะในการใช้เจริญปัญญา เพราะอย่างบางคนพอจิตตั้งมั่นแล้วพยายามไปรักษาตัวนี้ก็ผิดอีก ถึงบอกว่าจิตที่มันตั้งมั่นเนี่ย..มันทำเอาไม่ได้ แต่มันเกิดจากคอยมีสติรู้ทันจิตที่มันไม่ตั้งมั่น สภาวะตัวนี้ถ้าเรายังจงใจอยู่นะ จิตยังไม่ตั้งมั่นหรอก แต่ว่ามันต้องฝึกไปจนมันเป็นธรรมชาติ ครูบาอาจารย์เรียกว่า ‘มีสติอัตโนมัติ มีสมาธิอัตโนมัติ’ 

‘อัตโนมัติ’ ที่หมายถึงว่ามันเป็นของมันเอง เราไม่ได้บังบังคับเอา ถ้าอย่างเราทำสมาธิเราไปเพ่งๆ จะให้เกิดสมาธิจริง..ยังไม่เกิดนะ เพราะครูบาอาจารย์จะบอกว่าสมาธิ มันเกิดเมื่อมันไม่จงใจล่ะ

พระอาจารย์สมชาย กิตฺติญาโณ (พระอาจารย์อ๊า) 
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
14 กรกฏาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/dEt7GTOwnSQ?si=CGpHQRkqktWXyf2Y

#ฝึกจิตตั้งมั่น #ฝึกกรรมฐานที่ถนัด #เห็นจิตตัวเอง #พระอาจารย์สมชาย #พระอาจารย์อ๊า #พระอาจารย์สมชายกิตฺติญาโณ #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงปู่ปราโมทย์ #ร่างกายหายใจออกก็รู้ #อานาปานสติ #คอยรู้ทันจิตใจ #จิตจำสภาวะที่หลงไปได้ #เดินจงกรม #เห็นร่างกายเดิน #จิตไหลไปคิดรู้ทัน #ทำรูปแบบ #ใจไหลไปเพ่งรู้ทัน #จิตรู้สึกตัว #สมาธิเเบบพักผ่อน #เพื่อให้จิตมีกำลัง #สมาธิแบบอารัมมณูปนิชฌาน #รู้อารมณ์ที่ชอบ #ให้จิตไปรู้อารมณ์สบายๆ #สงบ #สมาธิที่ตั้งมั่น #ให้รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น #มีสติรู้ทันจิตที่หลงไป #สติรู้ทัน #สติ #เจริญปัญญา #สติอัตโนมัติ #สมาธิอัตโนมัติ #ฝึกไปจนเป็นธรรมชาติ #สมาธิเกิดเมื่อหมดความจงใจ #บ้านจิตสบาย 


ฝึกจิตตั้งมั่น