‘พุทธเจ้าเป็นกรรมวาที หมายความว่าพุทธเจ้าสอนเเล้วคนต้องทำ ถ้าไม่ทำไม่ได้’ วันนี้หลวงพ่อก็เตือนพวกเราใช่ไหมว่า “ต้องทำนะ ในรูปแบบต้องทำทุกวันนะ” ถ้าไม่ทำก็ไม่พอ..กำลังไม่พอ จะมาขอกำลังจากหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ให้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าหวงแต่มันให้กันไม่ได้ ต้องไปทำเอาเองก็คือเป็นกรรมวาที พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนผู้เดินคือพวกเรา พระองค์ชี้แล้วก็ต้องไป
วันนี้หลวงพ่อก็เปรียบเหมือนใช้แอปพลิเคชันแผนที่ หาเป้าหมายแล้วแผนที่ก็จะนำทางจากจุดที่เราอยู่ลากเส้นให้เลยถึงตรงนี้ ทางใกล้ที่สุด บางทีทางนี้รถติดก็มีทางเลือกให้ด้วยว่าไปทางนี้ก็ได้เพิ่มเวลาอีกสักหน่อย แผนที่ชี้เป้าหมายให้แล้วหน้าที่ของเรา (คือ) เดินทาง จะเดินทางด้วยอะไรก็มีให้เลือกด้วยนะ รถยนต์ รถไฟ หรือเดินไป หรือขี่จักรยานก็มีบอกให้หมด เรามีรถก็ใช้รถยนต์ไป ไม่มีรถมีแต่จักรยานมีทุนน้อยก็ขี่จักรยานไป ไม่มีเลยก็เดินไปประมาณนี้ พวกเราก็ประมาณว่าทุนน้อย เดินไป..เดินไปเดี๋ยวก็ถึง เดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็หยุด แวะร้านก๋วยเตี๋ยวบ้างก็ได้ แต่อย่าให้มันไปนอกทางก็แล้วกันให้มันอยู่ในทาง แวะร้านก๋วยเตี๋ยวในตามเส้นทางหรือจะออกไปบ้างเล็กน้อยเพื่อไปกินไปพักแล้วก็ต้องกลับมาเส้นทาง เห็นทางแล้วต้องไป ต้องเดินไป..เดินทางไป ไม่มีใครทำแทนกัน ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ถึงเป็นแฟนก็ทำแทนไม่ได้
ใครที่ทำ ‘สมาธิ’ ดีก็จะมีอุปกรณ์ช่วยในการเดินทางได้ดีกว่า คล่องตัวสะดวก แต่ก็มีข้อที่ต้องคอยระวังก็คือว่ามันสบาย คนทำสมถะได้จะสบาย จะติดสบายเท่านั้นน่ะ ติดสมถะ เวลาทำกรรมฐานก็มุ่งจะเอาสงบ..ไปพัก เพราะรู้สึกว่าสบายไม่ยอมออกมาเดินปัญญา ครูบาอาจารย์ก็จะเตือนให้ออกมาเดินปัญญา
หลวงตามหาบัวแรกๆ ที่ไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ให้ทำสมถะ พอทำสมถะได้หลวงปู่มั่นก็จะถามตอนนี้เป็นยังไง บอกทำสมถะได้ขั้นนั้นขั้นนี้ หลวงปู่มั่นก็ให้ออกมาเดินปัญญา อย่างนี้เรียกว่าสอนไปทีละขั้น พอออกมาเดินปัญญาสักพักนึง หลวงปู่มั่นก็ถามอีกตอนนี้เป็นยังไง “โอ้..เดินปัญญาเข้าใจแจ่มแจ้ง” ถามอีกที ก็เดินปัญญาเข้าใจแจ่มแจ้ง อ่า..ต้องทำสมถะใหม่ ประมาณนี้นะ ‘สมถะแล้วก็เดินปัญญา’ สมถะคือได้สมาธิ สมาธิมากไปไม่เดินปัญญาท่านก็ให้มาเดินปัญญา สมถะมากไปไม่ทำวิปัสสนาก็ต้องให้ออกมาทำวิปัสสนา วิปัสสนามากไปลืมสมถะ ท่านก็ให้กลับมาทำสมถะ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านก็เตือนได้ แต่พวกเราก็ต้องเรียนหลักเอาไว้เพื่อให้เตือนตัวเอง ถ้าเจอครูบาอาจารย์ท่านก็เตือน เวลาเราฝึกถึงต้องมีครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ว่าทำดุ่ยๆ ไปคนเดียว บางทีครูบาอาจารย์เห็นเรานะ ไม่ต้องถาม..ท่านก็เตือนให้เลย แต่ต้องให้มาเห็น ไม่ใช่หลบๆ นะ ต้องประมาณเสนอหน้าหน่อย เห็นหน้าจริงก็ได้ หรือเดี๋ยวนี้เข้าไปในอะไร แอปพลิเคชันที่ท่านเรียกให้มาดูหน้าก็ได้ จะบอกให้เข้าซูม (Zoom) เดี๋ยวก็กลายเป็นเข้าใจผิด เขาบอกว่าเป็นวิปัสสนาเหรอ..ซูม (Zoom) ไม่ใช่วิปัสสนานะ ซูม (Zoom) คือแอปพลิเคชัน หรือว่าเป็นเลนส์ซูม (Zoom) ใช่ไหม
สรุปแล้วนะ..ถ้าเราทำตามที่เรียนมา เราเรียนมาเยอะแล้วล่ะนะ เราทำตามที่เรียนมา เราจะเป็นพยานให้กับตัวเอง จะมีความมั่นใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครคอยปลุก จะมีเหตุการณ์ร้ายอะไรยังไงนะ ก็จะมั่นใจในแนวทางที่เราไป คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทดลองมาแล้วได้ผลอย่างนี้ ทำแค่นี้ได้ผลอย่างนี้ ถ้าทำต่อไปก็ได้ผลมากขึ้นตามแนว ทำสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน
‘สมถะเพื่อวิปัสสนา’ สมถะเป็นการเตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา สมถะไม่ใช่เพื่อสมถะ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ความสงบ ถ้าใครหวังเพียงแค่สงบ มันจะจบอยู่ที่กลางทาง ถ้าเห็นว่าสมถะเป็นแค่สงบมันต้องวิปัสสนาเท่านั้นจึงจะถูก เพราะจะตัดสินด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินให้ขึ้นสู่มรรคผล ก็เลยดูถูกสมถะ เอาแต่เจริญปัญญา..อันนี้ก็ได้แต่ฟุ้งซ่าน เพราะตัวที่เตรียมจิตให้พร้อมเจริญปัญญาไม่มี จะใช้ปัญญาเลยก็ได้คิดเอา คิดเอากลายเป็นว่าไม่เห็นความจริง ไม่ถึงมรรคผล
เพราะฉะนั้นต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนา ส่วนใครจะได้ผลทางไหนก่อน อันนี้แล้วแต่จริตทำควบคู่กันนั่นแหละ บางคนได้ผลทางสมถะก่อนคือทำฌานได้ กลุ่มนี้ก็จะไปประเภทว่าทำฌานแล้วถอยจากฌานมาก็พิจารณากาย กลุ่มนี้นะ เห็นกายไม่ใช่เราก่อนแล้วจึงเห็นจิตไม่ใช่เรา เส้นทางย่อๆ เป็นอย่างนี้นะ ส่วนกลุ่มที่ได้ผลทางวิปัสสนาก่อน คือกลุ่มนี้สมถะไม่ค่อยดี ทำฌานไม่ได้..ยังไม่ได้ ได้แค่จิตไปจ่ออยู่กับอารมณ์พักนึงเดี๋ยวก็ฟุ้งแล้ว ตอนจ่ออยู่กับอารมณ์ก็ทำสมถะอยู่นะแต่ว่ายังไม่ถึงขั้นฌาน เรียกว่าเป็นสมาธิ สมาธิมันมี 2 แบบ (1) สมาธิแบบจิตรวมอยู่กับอารมณ์ กับ (2) สมาธิแบบจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูไม่รวมอยู่กับอารมณ์
(ดูว่า)อารมณ์เป็นกำปั้นมือซ้ายนะ จิตที่ทำหน้าที่รู้เป็นมือขวา จิตที่ตั้งมั่นคือรู้อารมณ์อยู่แต่ไม่รวม แต่ถ้าทำสมถะโดยทั่วๆ ไป จิตจะรวมอยู่กับอารมณ์นี่เป็นสมาธิแบบแรก สมาธิแบบที่ 2 คือจิตตั้งมั่นออกมา จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิที่มีเฉพาะในพุทธศาสนาแล้วก็เป็นสมาธิที่พวกเราไม่คุ้นเคย อยู่ๆ จะให้บอกว่า..เอ้า ทำจิตตั้งมั่น..ทำไม่เป็น ทำไม่ได้หรอก แม้แต่คิดเอาบางทีก็เจตนาถอยจิตออกไปแล้วก็เป็นจิตตั้งมั่น..ไม่จริงเป็นของเทียม ‘จิตตั้งมั่น’ ต้องเกิดขึ้นมาโดยที่ดีนะ จิตตั้งมั่นที่ดีต้องไม่ได้เจตนา เกิดขึ้นมาเอง นี้จะเกิดขึ้นมาเองยังไง?
วิธีการฝึกสำหรับพวกเราก็คือ ว่าทำสมาธิแบบจิตรวมกับอารมณ์ไปก่อน ตอนนี้เรียกว่าหาที่อยู่ให้กับจิต ให้จิตไปอยู่ในอารมณ์นั้น เช่น พุทโธ..พุทโธเป็นคำพูดก็พูดอยู่ในใจ พุทโธแล้วจิตก็รู้อยู่คำว่าพุทโธ ถ้าพูดพุทโธอยู่ในใจแสดงว่ายังไม่หลงไปไหนนะ ทีนี้ถ้าพุทโธไป..พุทโธไป นึกถึงพระกฤชขึ้นมาจริงๆ พระกฤชก็ดูดีนะแต่มันไม่ใช่พุทโธไง พระกฤชไม่ใช่พุทโธแสดงว่าหลงแล้ว สมมุตินี้เป็นพุทโธนะ พุทโธ..พุทโธนึกถึงพระกฤช อ้าว..อันนี้ไม่ใช่ละ นึกถึงพระกฤชเนี่ยแสดงว่าหลงละ จิตอีกดวงหนึ่งมารู้ก็เห็นว่าจิตหลง จิตที่รู้ไม่หลง เป็นรู้จิตแล้วอย่างนี้เรียกว่าจิตตั้งมั่น ถ้ารู้เฉยๆ นะ รู้ไม่เข้ามาแทรกแซง ‘แค่รู้’ แล้วก็รวมกับพุทโธใหม่ มันก็จะมีอยู่ 3 ขั้นตอน
1. ทำจิตรวมอยู่กับอารมณ์ที่เราตั้งเอาไว้ ว่าอารมณ์นี้คือที่อยู่ของจิต
2. จิตเผลอไป
3. รู้
‘รู้’ เป็นสิ่งที่เราจะฝึกให้เกิดขึ้นมา ‘จะเกิดจิตผู้รู้แบบว่ารู้แบบจิตตั้งมั่น คือรู้ด้วยใจเป็นกลางไม่เข้าไปแก้ไข แค่รู้แค่ดู’ ฟังแล้วง่ายแต่จริงๆ มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะคนส่วนใหญ่พอเริ่มด้วยการจิตรวมอยู่กับอารมณ์แล้วนะ ก็รู้สึกว่ามันควรจะอยู่ตรงนี้..ไม่ควรเผลอไป เพราะฉะนั้นเวลาเผลอไปพอรู้ทันนะ มันจะไม่ชอบความเผลอ พอไม่ชอบแล้วมันเป็นอัตโนมัติเลย มันจะเข้าไปแก้ รวมอยู่กับอารมณ์ พอไปรู้อย่างอื่น รู้ทันคว้าเลยนะมันคว้าเลย คว้าแล้วกลับมา ซึ่งทำไม่ได้..ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ ก็หงุดหงิดทำไมทำไม่ได้ เพราะว่าจิตนั้นที่ว่าหลงไปนั่นน่ะเป็นอดีตนะ จิตรู้เป็นปัจจุบัน ไปคว้าจิตอดีตกลับมาไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่าทำไม่สำเร็จ ทำไมไม่สำเร็จแสดงว่าเราตั้งใจน้อยไป ภาษาตั้งใจน้อยไปก็คือบังคับน้อยไปแล้วตั้งใจให้มากขึ้น อาการก็คือบังคับให้มากขึ้น ก็หลงไปอีก มันจะจึ๊! ขึ้นมาในใจเลย หือ..อะไรวะเนี่ย ก็รีบคว้า
กลุ่มนี้ก็จะเป็นยิ่งภาวนายิ่งคิ้วขมวดนะ ภาวนาแล้วเกิดร่องระหว่างคิ้ว เครียด ภาวนาเครียด อีกกลุ่มหนึ่งนะ ภาวนาไปนะ เผลอไปแล้วไม่รู้หรอก เผลอไปไม่รู้ เผลอไปแล้วออกแนวเคลิ้ม มันออกไปแบบเบลอๆ ออกไปแล้วเคลิ้ม เหมือนไม่คิดนะแต่จริงที่ไม่คิดนะคือจิต เขาเรียกอะไรนะ ‘ตกภวังค์’ เป็นคำสุภาพนะ คำจริงๆ คือหลับนะ เวลาโยมนั่งสมาธิแล้วหลับแล้วมาถามอะไรอย่างนี้ถ้าพระเกรงใจ ท่านก็บอกอืม..จิตมันตกภวังค์ ตกภวังค์นี่นะเป็นจิตแบบหนึ่งที่ทำหน้าที่รักษาชีวิตเอาไว้ไม่ให้ตาย
จิตมันมี 2 ประเภทนะ จิตที่เป็น ‘วิถีจิต’ กับ ‘จิตที่ไม่ขึ้นวิถี’ จิตที่เป็นวิถีจิตคือเห็นอะไรจิตก็ขึ้นวิถีก็มาเห็น ฟังอะไรอยู่ก็จิตก็ขึ้นวิถีมาฟัง ก็คือจิตมันทำงาน พอจิตไม่ทำงานก็คือไม่ใช่จิตดับ แบบว่าไม่มีอะไรนะ มีจิตอยู่แต่จิตนั้นทำหน้าที่รักษาชีวิตเอาไว้ ก็คือรักษาองค์แห่งภพเอาไว้ องค์แห่งภพพอมาสนธิกัน สนธิกันกลายเป็นภวังค์ ‘ภวะ + อังคะ’ คือจิตไม่ขึ้นมารับรู้อารมณ์แต่ไม่ตายนะ แต่ไม่ตายคือชีวิตก็ไม่ตาย จิตก็ยังมีอยู่ด้วยนะ..มีจิตอยู่ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือตอนนอนหลับ นอนหลับเนี่ยจิตไม่ขึ้นมารับรู้อะไรแต่ไม่ตาย และตอนที่นั่งสมาธิแล้วตกภวังค์ก็อาการเดียวกัน เวลาพระท่านจะใช้คำสุภาพถนอมน้ำใจโยม โยมนั่งแล้วสงบ อ๋อ..จิตมันตกภวังค์นะ ใช้คำศัพท์สูงหน่อย โยมก็ฮ้า..ดีจังเลย อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่งดีใจนะ..
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
สวนธรรมประสานสุข จังหวัดชลบุรี
26 พฤษภาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย
ที่มาคลิปเต็ม: https://www.youtube.com/live/o9zKQ1ySgU0?si=zXqA7YrhXiWf0URi
#พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทาง #ผู้เดินคือพวกเรา #พระพุทธเจ้าเป็นกรรมวาที #พระอาจารย์กฤช #พระอาจารย์กฤชนิมมฺโล #นิมมฺโล #แผนที่การปฏิบัติ #สมาธิ #สมถะ #กรรมฐาน #เดินปัญญา #สมถะแล้วก็เดินปัญญา #สมถะเพื่อวิปัสสนา #คำสอนของพระพุทธเจ้า #กรรมวาที #ทำสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน #สมาธิแบบจิตรวมอยู่กับอารมณ์ #สมาธิแบบจิตตั้งมั่น #เป็นผู้รู้ผู้ดูไม่รวมอยู่กับอารมณ์ #จิตตั้งมั่น #รู้ด้วยใจเป็นกลาง #ไม่เข้าไปแก้ไข #แค่รู้แค่ดู #เผลอแล้วรู้ #ตกภวังค์ #วิถีจิต #จิตที่ไม่ขึ้นวิถี #บ้านจิตสบาย