อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

ภาวนาเเบบโง่ๆ รู้ไปตามที่มันเป็น

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567  

อะไรอยู่ตรงหน้าเรา เรารู้อันนั้นพอแล้ว อะไรเกิดขึ้นรู้ ฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน…จบ สงสัยรู้ว่าสงสัย…จบ มีกิเลสรู้ว่ามีกิเลส…จบ ที่มาพูดๆ กันว่าเดินปัญญาเป็นแบบนั้นแบบนี้นั่นมันหลักการ แล้วคนที่สามารถดูตัวเองได้ต้องไม่ธรรมดา ต้องสั่งสมการปฏิบัติมาเยอะมากถึงจะดูตัวเองออก สามารถที่จะแจกแจงได้ว่า

‘จิต’ แบบนี้ คือ จิตที่เดินปัญญา หรือไม่เดินปัญญา
‘จิต’ แบบไหน คือ จิตที่เดินปัญญาได้
‘จิต’ แบบไหน คือ จิตที่มีโมหะ

อย่าง ‘โมหะ’ นี่บางทีก็ดูไม่ออกหรอก มันมีโมหะแต่เราดูไม่ออก แต่ครูบาอาจารย์ท่านไว ท่านสั่งสมมาเยอะ ท่านมีปณิธานที่จะมาสอนธรรมะ กว่าท่านจะมาสอนธรรมะได้ท่านต้องใช้เวลาสั่งสมมาตั้งกี่กัปก็ไม่รู้ เคยได้ยินมาแว่วๆ ไม่รู้จําถูกหรือจําผิด น่าจะประมาณ 30 กัป เพราะฉะนั้นถ้าเราสั่งสมไม่เยอะขนาดนั้นนะ ดูใครก็ไม่ออก ดูตัวเองก็ไม่ออก ฉะนั้นเราก็ได้แค่ฟังๆ ไปว่าการจะเจริญปัญญาได้มันต้องมี ‘จิตตั้งมั่น’ พอมีจิตตั้งมั่นแล้ว ทําอะไรก็มาดูสิ่งที่มันกําลังเกิดขึ้นด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันจะเห็นอะไร มันก็เห็นการเปลี่ยนแปลง เคยเห็นไหมการเปลี่ยนแปลง ‘การเห็นการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละคือการเจริญปัญญา’ แต่ขนาดที่เราดูมันนี่นะ เราไม่สามารถจะเรียบเรียงได้ นึกออกไหม ระบบของเรามันเรียบเรียงเนื้อหาไม่ได้ว่าเรากําลังดูอะไร  เราเห็นอนิจจัง หรือเราเห็นทุกขัง หรือเราเห็นอนัตตา บางทีเราเรียบเรียงเรื่องราวไม่ได้ แต่จิตมันทําไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลมันนะครับ ทีนี้พอบอกว่าไม่ต้องกังวล ก็มีข้อสงสัยอีกบอกว่าจะเดินปัญญาได้ต้องมีจิตตั้งมั่น แล้วจิตตั้งมั่นหน้าตาแบบไหนอีก เป็นไหม มีใครยังดูไม่ออกว่าจิตตั้งมั่นหน้าตาแบบไหน ยากมากนะ

อย่างตอนที่ผมเรียนกับหลวงพ่อใหม่ๆ ตอนที่ท่านยังไม่บวช ท่านก็หัดให้ผมรู้จัก 2 สภาวะก็คือ ‘เพ่งกับเผลอ’ ผมก็ดูแค่นั้นแหละ ‘เพ่ง’ นี่เพ่งมาก่อนที่จะเรียนกับท่าน ผมเพ่งจนแบบหัวเนี่ยหนักมาก ตึงเครียดแบบเหมือนมีหินก้อนใหญ่ๆ อยู่ในหัว หนักอึ้งไปหมดเลย พอไปเรียนกับท่าน ท่านก็ชี้ให้ดูนะ “อ่ะ…เพ่งไปแล้วนะ” เราก็อย่างนี้เพ่งเหรอ… เพิ่งรู้นะเพ่ง พอรู้ว่าเพ่งก็นั่งฟังท่านสอนคนอื่นไปสบายๆ  เราก็ไปคิดสิทีนี้ พอไม่เพ่งมันก็เผลอไปคิด ‘เผลอไปคิด’ ท่านก็หันมาบอก “เผลอไปล่ะ” อ๋อ…เผลอไปเมื่อกี้ ผมภาวนาด้วยสองสภาวะนี้เท่านั้นนะ จิตตั้งมั่นก็ไม่รู้จัก อะไรๆ ก็ไม่รู้จักเลยนะ รู้แต่ ‘เผลอกับเพ่ง’ พอรู้สองตัวนี้ อ้าวเผลอ…เผลอนี่มันห้ามไม่ได้นะ มันเป็นของมันเอง อยู่ๆ ก็เผลอไปคิด อยู่ๆ ก็เผลอไปลืมตัวเอง ส่วนเพ่งเราหยุดได้ เพราะเรารู้ว่าเราทําขึ้นมาเอง พอเเบบนั้นผมก็หยุดการทําอะไรที่มันเพ่ง แล้วก็ปล่อยมันเผลอ เผลอแล้วรู้ๆ 3 เดือนผ่านไป ไปเจอท่าน ท่านบอก “รู้สึกตัวเป็นแล้ว” อะไรนะ…เป็นอย่างไร รู้สึกตัวเป็นแล้ว นี่เรารู้สึกตัวอยู่หรือนี่ อาการหนักเลยนะ เป็นลูกศิษย์ที่แบบโง่มาก ดูตัวเองไม่ออก ผมไม่รู้จริงๆ นะ พอก่อนกลับบ้านท่านก็บอกว่า “รู้สึกตัวเป็นแล้วนะ ต่อไปไปหัดเจริญสติปัฏฐาน” เอาล่ะสิ…อะไรอีก ‘เจริญสติปัฏฐาน’ เคยอ่านแต่ตํารามา แต่ไม่รู้ว่าต้องทํายังไง แล้วท่านก็หันมา ท่านก็ยิ้มๆ ขําๆ ประมาณว่า นี่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทีนี้พอทําอะไรเป็น ผมก็รู้ว่าเผลอเป็น ก็รู้แต่เผลอ รู้เผลอๆ ไป สุดท้ายเพิ่งมาเข้าใจตอนหลังว่า อ่อ…รู้ว่าเผลอนี่แหละ คือ ‘การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน’ ฉะนั้นจริงๆ ทุกอย่างมันเป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราใส่ชื่อมันไม่เป็น เราเรียบเรียงเรื่องราวมันไม่เป็น จนกระทั่งทําให้เรากังวลไง พอกังวลปุ๊บ ยิ่งกังวลเราก็ยิ่งดิ้น ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเละ เพราะฉะนั้นปล่อยมันไป ปล่อยมันไปเลย 

ภาวนาแบบโง่ๆ เคยได้ยินไหม ภาวนาแบบโง่ๆ ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องฉลาดหรอก ฉลาดแล้วปวดหัว ฉลาดแล้วชวนให้เราฟุ้งซ่านหลงทาง แล้วก็คล้ายๆ หลงตัวเอง เพราะฉะนั้นปล่อยมัน ไม่ต้องไปโหยหานะ จะก้าวหน้าไม่ก้าวหน้านี่สงสัยรู้ว่าสงสัยไปเลย ง่ายที่สุดแล้ว เเล้วเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เวลาที่จิตมันจะเปลี่ยน มันเปลี่ยนของมันเอง มันจะไม่มีนิมิต เครื่องหมาย สัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น บทที่จิตมันจะเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนของมัน บางคนจิตเปลี่ยนไปแล้วยังไม่รู้เลย เคยได้ยินไหม หลวงพ่อเทศน์บ่อยๆ จิตเปลี่ยนไปแล้ว มันเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่…ไม่รู้อ่ะ  

เพราะฉะนั้นเราอย่าไปกังวล ภาวนาไปเห็นอะไรดูอันนั้น เห็นอะไรดูอันนั้นไปเลย เพราะสิ่งที่ดูมันล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งสิ้น สิ่งที่เราเห็นที่เราดู มันไม่ออกนอกธรรมะเลยนะ แม้กระทั่งเห็นแก้วกาแฟ แก้วกาแฟยังเป็นธรรมะเลยนะ เป็นธรรมะตรงไหน มันคืออายตนะภายนอกไหม ในเมื่อเราดู ‘อายตนะภายนอก’ ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อธรรมะ ‘อายตนะภายใน คือ ตา เพราะฉะนั้นแก้วกาแฟก็สอนธรรมะได้ ทุกสิ่งทุกอย่างสอนธรรมะเราได้หมดเลย ใช่ไหม อันนี้ก็เป็นอายตนะภายนอก แล้วมันมีอะไร ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นถาดเซรามิค มันคือชื่อของมัน อันนี้เอาไว้ใส่โน่น ใส่นี่ใส่นั่น คือการใช้ประโยชน์ แต่ตัวธรรมะจริงๆ คืออะไร อายตนะภายนอก เที่ยงไหม ถ้าอยู่อย่างนี้มันก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงเลย…ถูกไหม ลองขว้างลงพื้นเปรี้ยง…มันแตกไหม มันเปลี่ยนไหม เห็นไหมมันสอน ‘อนิจจัง’ สอนอะไรได้อีก ถ้ามันแตกให้เราเห็นก็คือสอน ‘ทุกขัง’ ก็คือมันไม่สามารถจะอยู่อย่างนี้ตลอดกาล ถ้ามันไม่ถูกทําให้แตก ทิ้งไว้อีกสักพันปีหมื่นปีมันก็สลาย มันคงรูปไม่ได้ มันก็เป็นทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเดิมแบบนี้ไม่ได้ แล้วมันเป็นอะไรอีก มันเป็นอนัตตา ทําไมถึงเป็น ‘อนัตตา’ เพราะว่ามันมีเหตุให้เกิด ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้นมาเอง มันต้องมีคนไปทํามันขึ้นมา สร้างมันขึ้นมามันถึงจะเกิดขึ้นมาได้ มันมีเหตุให้เกิด พอมีเหตุให้เกิด พอหมดเหตุเดี๋ยวมันก็สลายไป มันก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็น ถ้าเราหัดดูในมุมของ ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ นั่นแหละเรากําลังเจริญปัญญาอยู่ หนีไม่พ้นหรอกยังไงก็เจริญปัญญา แต่เราเรียบเรียงไม่ได้แค่นั้นแหละ อย่างร่างกายเรานี่นะ เราบอกให้มันอยู่ในสภาพเดิมได้ไหม…ไม่ได้ มันก็สอนอะไรอยู่ ก็สอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้นจริงๆ ตัวปัญญาของการปฏิบัติ ไม่เอาผลนะ ‘ตัวปัญญาของการปฏิบัติมันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ มี 3 เรื่องเอง ทั้งหมดทั้งมวลที่เราปฏิบัติก็เพื่อที่จะมาให้เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ทั้งตัวเอง ทั้งของนอกตัว ทั้งอะไรในจักรวาลทั้งหลายทั้งปวง มันล้วนแต่อยู่ใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น มันไม่ใช่ว่าต้องเข้าฌานถึงจะเห็นนะ ไม่ต้องเข้าฌานก็เห็นได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะมันแสดงอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเราเฉลียวใจดูมันไหมแค่นั้นแหละ ถ้าเราเฉลียวใจดูมัน เราก็จะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่มันจะซึมซับลงไปในจิตหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง อย่างสมมติผมปล่อยให้แก้วแตก หรือเกิดผมทําหลุดมือแตก เห็นว่ามันแตกคาตาเลย แต่มันอาจจะไม่สั่งสมเข้าไปในจิตก็ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าขณะที่เห็นแตก…เราตกใจ ปัดปุ๊บ…ลงไปตกเพล้ง…ตกใจ เห็นอันนี้แตก เห็นอนิจจังก็จริง แต่ว่าความเป็นอนิจจังอันนั้น มันไม่ถูกน้อมเข้าไปอยู่ในจิต เพราะเราขาดจิตตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ‘หลวงพ่อถึงบอกว่าต้องมีจิตตั้งมั่นถึงจะเดินปัญญาได้’

แล้วจิตตั้งมั่นมันยากไหม ดูเหมือนยากนะ เอาเข้าจริงไม่มีอะไรเลย แค่เรารู้สึกว่ามีตัวเองอยู่มันก็ตั้งมั่นแล้วนะ เคยรู้สึกไหม เนี่ย…พยักหน้ารู้สึกใช่ไหม ก็ตั้งมั่นแล้วนะ แต่ถ้าพยักหน้าอยู่ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองพยักหน้านี่นะ มันหลงอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เรามีจิตตั้งมั่น เราจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเอง ยิ่งคนใส่แว่นนี่นะชัดเลย แว่นหายบ่อยไหม หรือหายทั้งวันเลย สังเกตไหมถ้าเรารู้สึกตัวหรือมีจิตตั้งมั่น แว่นไม่หายนะครับ มองไปมองอะไรก็ตามแต่ เราจะรู้สึกเลยว่าไอ้นี่มันขวางอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อไหร่ที่จิตไม่ตั้งมั่น มองอะไรจิตมันทะลุแว่นออกไป จิตมันไหลออกไปข้างนอก มันส่งออกนอก แว่นไม่มีครับ บางทีใส่แว่นอยู่แท้ๆ หาแว่นอยู่ไหนวะ…ใช่ไหม เพราะอะไร…เพราะมันไม่มีจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นอีกชื่อหนึ่งก็คือรู้สึกตัวนั่นแหละ แล้วแต่ว่าจะเรียกถ้อยคำอะไร เมื่อก่อนหลวงพ่อไม่เคยสอนเรื่องจิตตั้งมั่นนะ หลวงพ่อสอนแค่รู้สึกตัว บอกเนี่ยลืมตัวไปแล้ว เผลอไปแล้ว ให้รู้สึกตัวไว้ มันอยู่ที่ภาษาแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าเรามีร่างกายตัวเองอยู่ ทําอะไรอยู่แล้วมีความรับรู้ว่ามีตัวเองกําลังอยู่ในความรู้สึกเนี่ย อันนั้นแหละคือรู้สึกตัว 

ถ้ารู้สึกตัวมันก็คือมีจิตตั้งมั่น แต่พอคิดเป็นไง เวลาคิดตัวหายไหม ตัวหายนะ นั่นแสดงว่าอะไรมันไปอยู่ในโลกของความคิด พอไปอยู่ในโลกของความคิดมันคือจิตไม่ตั้งมั่น จิตมันไหลไปอยู่ที่อื่นแล้ว มันไปกองอยู่ที่อื่น มันก็ไม่ใช่จิตตั้งมั่น ฉะนั้นจิตตั้งมั่นง่ายนิดเดียว กลับมารู้สึกสบายๆ เห็นตัวเองพยักหน้าเห็นตัวเองทําโน่นทํานี่ เรียกว่ารู้สึกตัวนั่นแหล่ะอีกภาษาหนึ่ง อย่างถ้าสายหลวงพ่อเทียนก็จะใช้คําว่า ‘รู้สึกตัว’ แต่ถ้าเป็นภาษาทางการจริงๆ ก็จะใช้คําว่า ‘จิตตั้งมั่น’ หรือบางทีครูบาอาจารย์สายวัดป่าก็จะเรียกว่า ‘สมาธิ’ แต่พอเราใช้คําว่าสมาธิบางทีมันปนๆ กัน เพราะสมาธิเป็นคําที่ใช้ในความหมายที่หลากหลายมาก สายหลวงพ่อเทียนแทนที่จะเรียกว่าสมาธิ ท่านเรียกว่ารู้สึกตัว ก็แล้วแต่ว่าจะใช้ภาษาอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปฏิบัติธรรมให้ง่ายที่สุด รู้สึกตัวไว้ จบที่ตรงนั้นแหละ 

พอเรารู้สึกตัวเดี๋ยวอะไรจะตามมา เดี๋ยวมันจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเอง ที่มันเห็นเองเพราะอะไร เพราะว่าเราได้ยินได้ฟังเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามาแล้ว มันก็จะเห็นแล้วมันก็จะเรียนรู้ เพียงแต่เรายังเรียบเรียงเรื่องราวไม่ได้แค่นั้นแหละ ก็เลยรู้สึกว่าฉันปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเลย อยากก้าวหน้าก็ผิด ไม่อยากก้าวหน้าถูกไหม…พูดยากนะ พูดยาก พอบางคนบอกไม่อยากก้าวหน้าก็ทอดทิ้งการปฏิบัติเลยก็ผิดอีก กับดักมันเยอะ เพราะฉะนั้นรู้ไปตามที่มันเป็นนั่นแหละ

อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา 
ณ บ้านจิตสบาย
11 กุมภาพันธ์ 2567

#รู้ไปตามที่มันเป็น #รู้สึกตัว #จิตตั้งมั่น #จิตไหลออกไปข้างนอก #อาจารย์สุรวัฒน์ #อาจารย์สุรวัฒน์เสรีวิวัฒนา  #เพ่ง #เผลอ #เพ่งไปก็รู้ #หลงไปก็รู้ #เดินปัญญา #อนิจจัง #ทุกขัง #อนัตตา #จิตส่งออกนอก #หลวงปู่ปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ #จิตไม่ตั้งมั่น #สมาธิ #เจริญสติปัฏฐาน #การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน #การปฏิบัติธรรม #ธรรมะ #กระต๊อบธรรม #อาจารย์สุรวัฒน์ #อาจารย์สุรวัฒน์เสรีวิวัฒนา #เสรีวิวัฒนา #บ้านจิตบาย


ภาวนาเเบบโง่ๆ รู้ไปตามที่มันเป็น