พระธนุสรณ์ จิรสรโณ

สร้างความเคยชินในการภาวนา

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567  

ไม่มีอะไรที่จะสำคัญเท่ากับ ‘การเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ’ ที่ครูบาฝึกมาเนี่ยไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไรนะ แต่ก็ต้องอดทนสู้เอา สู้กับอะไร สู้กับความขี้เกียจบ้าง สู้กับความท้อแท้ใจในการภาวนา

คนจะได้ดี จะเอาดีให้ได้เนี่ย มันต้องลงทุนลงแรง การที่เราจะมานั่งๆ นอนๆ แล้วก็บรรลุธรรม หรือว่าเข้าใจธรรมะ ในรุ่นเราคงยากนะ คือทุกคนที่เขาได้เร็วหรือว่าได้ดีเร็ว เพราะว่าเขาลงทุนลงแรงมาแล้ว ถ้าอ่านในสมัยพุทธประวัติในพุทธกาล พระหรือว่าฆราวาสที่เขาบรรลุธรรมได้เนี่ย เขาสะสมมากันแล้ว สะสมมาเพียงพอที่บารมีจะเต็มในชาตินั้น ที่จะได้เจอพระพุทธเจ้าหรือเจอพระอรหันตสาวก ในสมัยนั้นฟังธรรมไม่กี่ประโยค หรือว่าภาวนาไม่กี่ปีก็เข้าใจธรรมะ มันเกิดจากอะไร เกิดจากการสร้างความเคยชินให้กับใจนั่นแหละ เราสร้างความเคยชินที่เราจะภาวนา มันก็จะเคยชินที่จะส่งทอดมาถึงในปัจจุบันนี้ได้

เหมือนกันถ้าเราเคยชินที่เราอยากจะเสพสุขอยู่ทางโลก เราก็เคยชินที่จะหลงโลกไป โลกก็ดึงดูดเราง่ายขึ้น สังเกตได้ง่ายๆ ในปัจจุบันนี้ มือถือโซเชียลอะไรพวกนี้ แป๊บๆ เราก็หยิบขึ้นมาดูแล้ว ไม่ได้ใครอื่นหรอก ก่อนครูบาจะบวชครูบาก็เป็น เพราะว่าเป็นช่วงที่เริ่มต้นจะมีโซเชียล มันยังต้องเปิดในคอมพิวเตอร์ อันนั้นจะใช้เวลานานหน่อย ก็คือต้องกลับบ้านหรือเปิดคอมพิวเตอร์ถึงจะเล่นได้ แต่เดี๋ยวนี้ แป๊บๆ ก็เปิดมือถือได้เลย สะดวกขึ้น สะดวกที่เราจะหลงโลกได้ง่ายขึ้น 

ถ้าเราเคยชินฝึกที่จะดูโน่นดูนี่นะ เราก็จะส่งจิตออกนอกได้ง่าย มันก็จะหลงโลกได้ง่าย ครูบาดูจากตัวครูบาเองนี่แหละ คือตอนช่วงที่เราภาวนาแรกๆ ยังไม่มีมือถือที่เปิดอินเทอร์เน็ตได้ เราก็อยู่กับกายกับใจได้ง่าย แต่พอมันมีมือถือขึ้นมา แป๊บๆ เราก็ยกมือถือขึ้นมาดูได้แล้ว กายกับใจเราลืมไปหมดเลย ไปอยู่ในโลกของโซเชียล ไปอยู่ในโลกของซีรีส์ มันทำให้เราไม่ได้รู้กายรู้ใจ ถ้าเราสร้างความเคยชินที่จะหลงโลก ก็คือไม่ได้รู้กายไม่รู้ใจ การที่จะทวนมารู้กายรู้ใจมันเลยยาก แต่อย่างครูบาอาจารย์ อย่างหลวงพ่อเอง ท่านฝึกตัวท่านเองมา ท่านไม่ได้หลงโลก ท่านทำหน้าที่ของชาวโลกได้เต็มที่ เลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วก็ทำงานเต็มที่

ตอนที่ทำงานท่านก็ฝึก เบื้องต้นท่านฝึกทำสมาธิจากหลวงพ่อลีก่อน ฝึกอยู่ 22 ปี ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์มาสั่งซ้ำว่าจะต้องทำนะ แต่ท่านเคยชิน เคยชินที่จะทำสมาธิ ทำสมาธิไปก็หวังว่าคงจะเข้าใจธรรมะได้ ท่านก็ทำไป ท่านทำอยู่ตั้ง 22 ปี ยังไม่มีครูบาอาจารย์อื่นจนอายุ 29 ปี ท่านเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ให้ท่านอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ท่านก็อ่านจิตอ่านใจตลอดเลย ท่านบอกว่าไม่มีวันไหนที่ท่านไม่ได้อ่านจิตอ่านใจเลยนะ แค่คำพูดของครูบาอาจารย์เแค่ครั้งสองครั้ง แต่หลวงพ่อเอาไปทำ ท่านทำจนท่านเข้าใจในสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน เป็นจากอะไร เป็นจากที่ท่านเคยชินที่จะภาวนา ที่จะไม่หลงโลก ส่วนพวกเราเอง ถ้าเราเคยชินที่จะหลงโลก กว่าจะทวนเข้ามารู้กายรู้ใจ มันใช้เวลา มันต้องใช้ความอดทนมาก

แป๊บๆ เรามาภาวนา บางคนนั่งภาวนาไป เบื่อ เซ็ง ท้อแท้อะไรอย่างนี้ เมื่อไหร่จะดีสักที หรือบางครั้งกำลังนั่งๆ ไป ฟุ้งซ่าน อยากจะไปเปิดมือถือ อินทรีย์อ่อนแก่มันต่างกันตรงนี้แหล่ะ ‘อินทรีย์อ่อนแก่ ก็คือความเคยชินของใจที่จะทำความดี’ ถ้าอินทรีย์มาก เขาเคยชินที่จะทำความดี ถ้าทำความดีไปเรื่อยๆ ทำกุศลให้ถึงพร้อม มรรคผลไม่ได้ไกล แต่ต้องอาศัยความอดทน ถ้าเราหลงโลกมากนะ มันก็ขัดขวางการภาวนา มันทำให้เราติดอยู่ในกาม ไม่ได้มารู้สึกกาย ไม่ได้มารู้สึกใจ

ตอนที่ครูบาเล่าเมื่อกี้ว่าก่อนครูบาบวช ครูบาก็เล่นมือถือนะ แต่ในใจมันรู้สึกว่ามันไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะครูบาภาวนามาแล้ว ภาวนามาก็เข้าใจหลักการที่หลวงพ่อสอนในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเรายังติดอยู่ในโลก ยังติดอยู่ในกาม กามคืออยากได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพึงพอใจ อยากดูข่าว อยากดูสิ่งต่างๆ ที่เขานำเสนอมาในโลกโซเชียล มันทำให้เราไม่รู้กาย ไม่รู้ใจ ดังนั้นถ้าเราอยากจะพัฒนานะ ต้องอดทนที่จะสลัดตัวเองออกมาจากสิ่งที่เคยชินในทางที่หลงโลก ก็คือเรามาฝึกตัวเอง ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก เบื้องต้นก็คือรักษาศีล ตั้งใจรักษาศีลไปก่อน ทำอะไรไม่ได้ รักษาศีลไว้ก่อน ศีล 5 ทุกคนรู้อยู่แล้ว คนที่จะมาเรียนพุทธศาสนา มาเรียนเรื่องการปฏิบัติ พื้นฐานของศีล 5 เนี่ยเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะว่าถ้าเราผิดศีลเมื่อไหร่ ใจจะเศร้าหมอง ใจจะฟุ้งซ่าน มันจะทำให้เราไม่สามารถมารู้กาย รู้ใจได้ง่าย

ดังนั้นเราต้องฝึกที่จะรักษาศีลในเบื้องต้นก่อน ฝึกอดทนต่อกิเลส ไม่ให้ทำผิดทางกาย ทางวาจาออกมา เป็นการรักษาศีล เบื้องต้นมันใช้ความอดทนในการฝืนตัวเองก่อนถ้าเราเคยผิดศีลมาก่อน แต่ถ้าเราเคยชินที่จะรักษาศีลแล้ว ทำสักช่วงหนึ่งนะมันจะเคยชินได้ อย่างครูบาเองไม่ฆ่าสัตว์ ในเรื่องของตบยุง ตอนเด็กๆ อาจจะมีบ้าง แต่พอโตขึ้นมาเรารู้แล้วว่าถ้าฆ่าสัตว์ มันไปเบียดเบียนทำร้ายเขา เราก็เลยตั้งใจที่จะไม่ฆ่าสัตว์ พอไม่ฆ่าสัตว์ ด้วยความตั้งใจจนเป็นความเคยชิน เราก็ไม่ทำโดยอัตโนมัติ ไม่พูดปด เราจะไม่ไปโกหกหลอกลวงใคร ถ้าเราฝึกจนเคยชินนะ มันก็ไม่อยากจะไปพูดโกหก หรือจะพริ้วให้เอาประโยชน์เข้าตัว หรือผลักคนอื่นให้ต่ำลง ด้วยคำโกหกด้วยคำพูดปดอะไรอย่างนี้ จะไม่มี

อย่างข้อลักเล็กขโมยน้อย ครูบาก็ฝึกตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าจะไม่ลักของใคร เพราะว่าเราไม่อยากถูกใครลักของของเราเหมือนกัน เบื้องต้นก็ฝึกอย่างนี้เหมือนกัน จนมันเคยชินที่จะไม่ผิดศีลนะ แต่พอเราพัฒนาขึ้น คือมาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านให้เรารู้ทันใจ รู้ทันกิเลสที่มันครอบงำใจ ถ้าเรารู้ทันกิเลสได้ว่า ความโลภเกิดขึ้นแล้ว อยากจะไปขโมยเขา อยากขโมยของเขา เรารู้ทัน ใจก็จะไม่ไปทำ เพราะมีสติขึ้นมา พอมีสติใจเป็นกุศล เราก็จะไม่ทำอกุศลขึ้นมา มันเป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการรู้ทันจิต เขาเรียกว่า อินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่ดีกว่าที่เราจะไปบังคับตัวเองไม่ให้ทำผิดศีล เพราะอันนี้เป็นศีลที่เรารู้ทันจิต และเราได้ภาวนาไปด้วยเลย  ก็คือถ้าเรารู้ทันจิตว่าเราอยากได้ของเขา เรามีสติรู้ทันนะ เราก็ได้ภาวนาไปด้วย ได้เห็นว่าความอยากมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เนี่ยเราได้ภาวนาไปด้วย

หลังจากที่เรารักษาศีล ท่านก็ให้เรามาฝึกจิต ที่เรียกว่า ‘จิตสิกขา’ ฝึกจิตทำทุกวันนะ หนึ่งคือเจริญสติในชีวิตประจำวัน อันที่สองก็คือทำในรูปแบบ อันนี้เราต้องทำทุกวัน ครูบาเองเราก็เลือกกรรมฐานที่เราถนัด อย่างครูบาชอบเดินนะ เดินเนี่ยเป็นกรรมฐานที่เราถนัด เพราะว่าถ้าครูบานั่งแล้วมันจะเคลิ้มหลับได้ง่าย ดังนั้นครูบาก็เดินเอานะ เวลาไปทำงาน เวลาไปเรียน คือที่พักกับที่ทำงานมันไม่ได้ไกลกัน เราก็ใช้วิธีเดินเอา พอเดินเอาเราก็ค่อยๆ รู้สึกกาย รู้สึกใจไป กายมันก็เดินๆ ไปอย่างนี้ แล้วพอเราไปเห็นสิ่งที่เราชอบเนี่ย มันเกิดกิเลสเกิดขึ้น อย่างเช่น เราอยากได้ อยากกินอะไร เราก็รู้ทันใจ รู้ทันใจเรา เราก็ได้ภาวนาแล้ว 

ภาวนามันไม่ได้ยากเลยเพราะว่าเรามีกายมีใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นที่กาย รู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นที่ใจได้เราก็จะมีสติ อันนี้เป็นการฝึกจิตที่เราทำได้ต่อเนื่อง เราเลือกกรรมฐานสักอย่างนึงที่เราถนัดแล้วเราค่อยๆ ทำไป อันนี้มันจะช่วยทำให้เรามีสติ มีสมาธิได้ง่าย  ในชีวิตประจำวันทำไปทุกวัน พอไปทำงาน พอไปกระทบอารมณ์ต่างๆ ไปพูดคุยกับใครแล้วมีกิเลสเกิดขึ้น เราก็รู้ทัน อันนี้เราก็ฝึกอย่างนี้ได้ทุกวัน

ครูบาเป็นสัตวแพทย์ ทำงานต้องยุ่งกับคนเยอะ หมายถึงว่าต้องพูดกับเจ้าของสัตว์ ต้องพูดกับพนักงาน ผู้ช่วยสัตวแพทย์ หรือพูดกับสัตวแพทย์ด้วยกัน บางครั้งความคิดความเห็นไม่ตรงกัน มันมีโทสะเกิดขึ้น  เราก็คอยรู้ทัน ฝึกรู้ทันอย่างนี้ ใจมันก็ค่อยๆ มีสติได้มากขึ้นนะ เราฝึกตรงนี้บ่อยๆ พอฝึกตรงนี้บ่อยๆ  สติ สมาธิมันค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วครูบาเองเป็นคนที่สนใจคนอื่นเยอะ จะคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกยังไง จะคิดยังไงกับเรา มันทำให้ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว

เราก็ใช้วิธีการฝึกรู้ทันใจเราไปว่าพอเราเห็นคนนี้ เอ๊ะ…เขาทำหน้าแบบนี้ ใจเรากังวลว่าเขาคิดอะไรกับเรา เราก็รู้ทันใจเราว่าใจเรากังวล หรือว่าเขาทำหน้าแบบนี้ เขากำลังโกรธเราหรือเยาะเย้ยเราหรือเปล่า ใจมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาทางใจ เราก็รู้ทันไป ว่าอ๋อ…ใจมันเป็นแบบนี้ มันทำได้ตลอดนะ ครูบาไม่ได้ฝึกอะไรยาก ฝึกในชีวิตประจำวันนี่เยอะเลย ตั้งแต่เรียน ตั้งแต่ทำงาน ไปเจอใครก็แล้วแต่ เราคอยรู้ทันใจไป ทำอย่างที่หลวงพ่อสอน มันไม่ได้ยากอะไร เพราะว่าธรรมะที่หลวงพ่อมาสอนเนี่ยมันเหมาะกับพวกเราที่เป็นคนในเมือง พวกเรามันจะต้องกระทบอารมณ์เยอะ ต้องคุย ต้องปฏิสัมพันธ์ แล้วทำงาน ทำงานบริษัทบ้าง ทำงานอยู่ในครอบครัว มันก็กระทบกระทั่งเรื่อยๆ 

เราคอยรู้ทันกาย รู้ทันใจไป มันก็จะพัฒนาขึ้นไม่ยากหรอก แล้วพอมีเวลานะ ทุกวันทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบ ก็เลือกที่เราถนัด  อย่างที่ครูบาบอก อย่างเช่น ครูบาชอบเดิน ก็มาเดินจงกรม พอนั่งทีไรก็เคลิ้มทุกที แล้วก็เดินจงกรมทุกวัน อย่างน้อยเนี่ยมีวินัยในตัวเอง ครูบาเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงทุกวัน ทำให้ได้ แม้วันนั้นจะเหนื่อย แม้วันนั้นจะหนักยังไง ทำงานหรือว่าเรียน หรือว่าสอบ เราก็ไม่มีข้ออ้าง เราต้องทำเพื่อฝึกสติ ฝึกสมาธิ ถ้าเราอยู่กับอารมณ์ๆ เดียวอยู่กับการเดินไปเรื่อยๆ แล้วมีสติอยู่กับการเดินไปเรื่อยๆ นะ มันก็มีสมาธิที่เป็นอารัมมณูปนิชฌานไป มันก็ได้จิตที่สงบขึ้นมา 

พอเรามีจิตที่สงบมีกำลังพอแล้ว เราเห็นใจที่มันเปลี่ยนแปลงตอนที่เราเดิน มันเป็นผู้รู้ล่ะ มันมีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาได้ เพราะว่าเรารู้ใจที่มันเปลี่ยนแปลง แล้วเราเห็นว่าใจที่มันไหลก็ไหลได้เอง จิตมันก็เป็นผู้รู้มาแว๊บนึง ครูบาไม่ได้เป็นคนที่มีสมาธิเยอะ อาศัยการที่เรารู้ทันจิตและมีสมาธิชั่วขณะ คือขณิกสมาธิไปนะ ทั้งทำในรูปแบบหรือทั้งในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เราก็ทำอย่างนี้ทุกวัน พอเรารู้ทันไปนะ ใจมันเริ่มมีความสุขขึ้น พอเรารู้ทันจิตที่มันหลง เรารู้ทันความหลง จิตมันจะตื่นขึ้นมา ก็คือมีสติขึ้นมา พอมีสตินะ มันมีความสุขที่เป็นผลจากสมาธิขึ้นมา เป็นความสุขที่เกิดเป็นกุศลจากการมีสติ  ความสุขตรงนี้เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ พอมีสมาธิตรงนี้ขึ้นมามันก็จะมีความสุขเนืองๆ ไม่ได้เป็นความสุขแบบเยอะๆ เหมือนคนที่เข้าฌาน เรามีความสุขทีละขณะๆ แต่เราทำต่อเนื่องมันก็จะมีความสุขได้เรื่อยๆ เดินๆ ไปอยู่ดีๆ ความสุขก็โชยขึ้นมาเพราะเรามีสติรู้ทันกาย มีสติรู้ทันใจ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาได้ 

ดังนั้นที่หลวงพ่อสอนไม่ได้ยากสำหรับพวกเราเลย ขอแค่อย่างเดียวคือค่อยๆ อดทนทำในสิ่งที่หลวงพ่อท่านสอน ท่านลงทุนลงแรงเอาธรรมะที่ท่านเข้าใจมาย่อยให้พวกเราที่เป็นคนในเมืองฟัง ไม่ได้ยากอะไร คนที่ภาวนาตามที่ท่านสอนได้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนฟัง YouTube อย่างเดียวไม่ได้เจอท่านก็ภาวนาเป็นขึ้นมา เพราะว่าท่านสอนสำหรับคนในเมืองอย่างพวกเรานี่แหละ เหมือนอย่างที่ครูบาอาจารย์บอกท่านเมื่อก่อนว่า ต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ท่านก็คิดว่ามันจะรุ่งเรืองได้ยังไง อ๋อ…ก็ในสมัยนี้คนส่วนใหญ่ของพวกเราเป็นพวกทิฏฐิจริต แล้วก็ไม่ได้รักสุขรักสบายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันเป็นพวกที่จะต้องใช้ความคิดที่จะต้องกระทบอารมณ์เยอะ แล้วก็ปากกัดตีนถีบตลอดเวลา เพราะว่าชีวิตมันไม่แน่นอนแล้ว บางครั้งทำงานทำอยู่ช่วงนึง เศรษฐกิจเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน ไม่มั่นคงแน่นอนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันเป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ถ้าเรามีสติไปได้เรื่อยๆ รู้ทันกาย รู้ทันใจไป มันค่อยๆ พัฒนาได้ คือการภาวนาเนี่ยค่อยๆ อดทนทำไป สะสมสิ่งที่หลวงพ่อท่านสอน 

สะสมศีล สะสมสมาธิ สะสมปัญญา ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนไป ค่อยๆ เรียนแล้วก็เรียนรู้ตัวเองนี่แหละดีที่สุด เราเรียนรู้คนอื่นมันไม่ได้ประโยชน์อะไร มันมีแต่การเพ่งโทษหรือการไปจับผิดเขา ทำให้ความทุกข์ใส่ตัว แต่ถ้าเราเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจอย่างที่เขาเป็น เราจะเห็นว่ากายก็ทำงานอย่างที่เขาเป็น ใจก็ทำงานอย่างที่เขาเป็น มันไม่ใช่เรา มันไม่มีตัวเราอยู่ในนั้น ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ นะ เราจะเห็นตรงนี้ได้ บางคนในที่นี้ก็เริ่มเห็นแล้ว พอเรามีสติมีสมาธิที่ถูกต้องจากการที่เรารู้ทันจิต รู้ทันใจไป มันเริ่มมีสติขึ้นมา มีสมาธิ จิตตั้งมั่นขึ้นมา เห็นว่ากายก็ทำงานของมัน ใจก็ทำงานของมัน มันไม่มีตัวเรา เป็นชั่วขณะๆ ไป

พระธนุสรณ์ จิรสรโณ (ครูบาม่อน)
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี 
4 กุมภาพันธ์ 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม: https://www.youtube.com/watch?v=ByWxbhBSKXo

#ฝึกความเคยชิน #สร้างความเคยชินในการภาวนา #การเจริญสติในชีวิตประจำวัน #พระธนุสรณ์ #ครูบาม่อน #พระธนุสรณ์จิรสรโณ #หลวงปู่ดูลย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ #ทำในรูปแบบ #รู้ทันจิต #ภาวนา #ฝึกรู้ทันใจ #ปฏิบัติธรรม #มีสติรู้ทัน #จิตตั้งมั่น #กรรมฐาน #จิตสิกขา #จิตผู้รู้ #กระทบอารมณ์ #อินทรีย์ #อินทรีสังวรศีล #รักษาศีล #ศีล5 #กุศล #อกุศล #กิเลส #สติ #สมาธิ #บรรลุธรรม #มรรคผล #สะสมบารมี #เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ #บ้านจิตสบาย


สร้างความเคยชินในการภาวนา