พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรามาภาวนาเพื่ออะไร…?

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567  

ท่านให้ดูว่า “เรามาภาวนา เรามีจุดมุ่งหมายอะไรนะ” จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะภาวนา เป้าหมายในชีวิตเลยด้วยซ้ำไป ท่านถามว่า “ต้องการความสุข หรือ ต้องการพ้นทุกข์” ถ้าต้องการสุข วิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เวลาให้ ‘ทาน’ เพื่อความสุข ก็มุ่งหวังว่าจะได้อานิสงส์ให้รวย แล้วก็เวลารักษา ‘ศีล’ ก็อยากให้มีอานิสงส์ให้สวย ให้หล่อ เวลาจะมี ‘ปัญญา’ ภาวนาเพื่อให้ฉลาดหรือจะให้เก่ง ฉลาดหรือเก่งก็คืออยากมีความสุข อยากเก่งกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น จริงๆ ก็สนองความเป็นตัวเป็นตน สนองมานะความถือตัว อยากเหาะได้ ฝึกภาวนาเพื่อเหาะ มันเหาะได้คนเดียว สู้คนที่สร้างเครื่องบินไม่ได้ เหาะได้หลายคน ฝึกดำดิน สู้คนสร้างรถไฟฟ้าไม่ได้ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาได้ด้วย ว่าถึงประโยชน์แล้วมันน้อย

แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่า ‘ให้พ้นทุกข์’ จุดมุ่งหมายก็จะดูทุกข์ตัวเอง มองว่า ‘ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ 5’ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ทำอย่างไรจะพ้นจากสภาวะตรงนี้ พอตั้งเป้าหมายขึ้นมาว่า อยากพ้นทุกข์ หรือว่าต้องการพ้นทุกข์ มุมมองจะเปลี่ยน ‘อยากสุข’ บางทีในแง่หนึ่ง เอาไว้ล่อคนมาภาวนาได้ หรือให้คนมาทำบุญได้ แต่พอในระดับที่จะหวังผลจริงๆ ถ้าต้องการความสุข บางทีมันทำด้วยความโลภ หรือแม้แต่ตอนเจริญเมตตา ‘เจริญเมตตา’ ขึ้นต้นด้วย ‘อะหัง สุขิโต โหมิ’ ก็ให้มีความสุขก่อน แล้วท่านก็พูดอีกคำหนึ่งทันทีเลย ‘นิททุกโข โหมิ’ ต้องไม่ทุกข์ด้วยนะ ให้พ้นทุกข์ด้วย ‘นิททุกโข’ คือ ปราศจากทุกข์ ถ้ามาคำเดียวนี่พลาด พลาดง่าย บอกตัวเองว่า ให้มีความสุข คนเราก็จะนึกถึงแล้วว่า ทำอย่างไรจะให้รวย ทำอย่างไรจึงให้มีตำแหน่งดีๆ ทำอย่างไรให้สวย ให้หล่อ ให้สมหวัง ให้อยู่กับคนรัก ประมาณอย่างนี้ 

รวมแล้วมันคือเรื่องกาม นึกออกไหม ก็อยากได้กามมากๆ เพื่อสนองความต้องการในแง่ว่ามีความสุข ถ้าคิดแค่นี้มองพระนิพพานก็ยังว่าเป็นสุขนะ อยากให้ตัวเองมีความสุขในนิพพาน มองการให้ ‘ทาน’ เพื่อให้มีความสุข จะได้รวย หรือขณะให้ทานถ้ามีคนรู้ เราจะมีชื่อเสียง เราก็จะมีตากล้องไปร่วมทำกิจกรรม ถ้าไลฟ์ด้วยก็จะดี ‘รักษาศีล’ ศีลทำให้สวย เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอรักษาศีลก็ได้นะ ศีลสวยมันอาจจะชาติหน้าแล้ว ชาตินี้ก็ไปผ่าตัดทำศัลยกรรม เดี๋ยวนี้ไม่ต้องผ่าตัดก็ได้นะ เข้าแอป ที่จีนก็มีกฎหมายนะเพิ่งออก บังคับให้ทุกคนที่ใช้โซเชียลเปิดเผยหน้าจริง คนเดือดร้อนกันมากเลย คือป้องกันการหลอกลวงให้เปิดเผยหน้าจริง ต้องมีรูปที่เปิดเผยหน้าจริง ใส่หน้ากากอย่างนี้ ก็ไม่ได้นะ คนใส่หน้ากาก เราลองสังเกตดูนะ ถ้าเราไม่เคยเจอเขา แล้วเขาใส่หน้ากากมานี่นะ เราจะนึกหน้าเขาสวยกว่าตัวจริง ถ้าเป็นผู้ชายก็หล่อกว่าตัวจริง “ขอดูหน้าเต็มๆ หน่อย” เราอาจจะตกใจ ที่มโนไว้เป็นอีกแบบหนึ่ง ให้เปิดเผยหน้าจริง แล้วไม่ผ่านแอปด้วยนะ เอาหน้าจริง แต่ไม่ต้องถึงกับหน้าสด แค่นี้ก็แย่แล้วใช่ไหม หน้าสดนี่แย่เลย รักษาศีล ถ้าหวังสุขจะอยากสวย

ถ้าต้องการพ้นทุกข์ ‘การให้ทาน’ คือ การสละออก บริจาค ‘การรักษาศีล’ ก็คอยระวังกาย วาจา ใจตัวเอง ไม่ไปสร้างเหตุแห่งความทุกข์ของคนอื่นและของตัวเอง ระวังมุมมองไม่ให้สร้างทุกข์คนอื่นก็คือรักษาศีล ในมุมมองที่ไม่สร้างทุกข์ตัวเองคือทำผิดแล้วมันเดือดร้อนใจ ตอนทำผิดแล้วเดือดร้อนใจ บางทีใครปลอบใจก็ยากเหมือนกันนะ พอผิดไปแล้วนี่นะ โห…มันนั่งเสียใจอยู่คนเดียว ฉะนั้นระวังตั้งแต่ตอนแสดงออก ไม่ไปทำอะไรที่มันเป็นการล่วงเกินชีวิตเขา เป็นการล่วงเกินทรัพย์สินของเขา หรือล่วงเกินคนรักของเขา หรือแม้แต่พูด พูดก็ต้องระวัง ไม่ให้ไปกระทบกระเทือน

วิธีที่จะให้รักษาศีลง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งนะ ถ้าเราคิดซะว่า มันมีวงจรปิดแบบบันทึกเสียงอยู่ทุกที่เลย เราก็จะกลัวถูกแฉ คดีหลายคดีเจ๊งเพราะวงจรปิดนะ โกหกไม่รอด หรือว่าพูดกับเพื่อน ก็คิดซะว่า เดี๋ยวคำนี้ เพื่อนจะเอาไปพูดกับคนอื่นต่อ นินทาใคร ก็จะระมัดระวังคำพูด จะนินทาแบบใส่เต็ม ถ้าเขาเอาคำพูดนี้ไปบอกกับคนที่เราพูดถึงนะ สมมุติเราคุยกับเพื่อนถึงบุคคลที่ 3 เพื่อนเอาคำของเราไปบอกจะรู้สึกอย่างไร เพื่อนคนที่ถูกพูดถึงจะรู้สึกอย่างไร ก็ระมัดระวังตั้งแต่ตอนพูดเลย เผื่อเขาจะเอาไปบอก หรือแม้แต่แชท แชทนี่ตัวอันตรายเลยนะ เพราะว่ามันแคปหน้าจอไปได้ใช่ไหม ก็ต้องระวังก่อนจะกดส่ง หรือ Enter ไป ก็ต้องตรวจสอบว่าคำนี้ควรจะออกไปจากเราไหม ถ้าคำพูดของเราไม่ไปสร้างความบาดหมางอะไรก็ไม่เป็นไร เรียก ‘ระวัง’ เพราะว่าถ้าพูดไม่ดี หรือสื่อสารอะไรไปไม่ดี เป็นเหตุให้เราทุกข์ มุมมองที่ว่า ‘อยากจะพ้นทุกข์’ จะระวัง ไม่ได้ต้องการให้เขามาชมเรานะ แต่ต้องการที่จะไม่สร้างเหตุแห่งทุกข์ จริงๆ มันก็จะ ‘รักษาศีลได้อัตโนมัติ’ อะไรที่พาให้เดือดร้อนก็ไม่เอา มุมมองในการภาวนาในการพัฒนาจิตใจ ทั้งให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะเปลี่ยน 

แม้แต่ ‘เจริญเมตตา’ ถ้าเจริญเมตตาแบบหวังสุข ก็จะมุ่งที่สุขแบบให้ตัวเองสุข เจริญเมตตาแบบหวังให้ตัวเองสุขนี่ มันจะแคบ 
‘อะหัง สุขิโต โหมิ’ ให้เรามีความสุข 
‘นิททุกโข โหมิ’ ไม่อยากให้มีทุกข์ ก็คืออย่าเจ็บ อย่าป่วย มองแค่นี้ อย่าเจ็บ อย่าป่วย ไม่เจ็บ ไม่จน
อีกคำหนึ่ง ‘อะเวโร โหมิ’ ถ้ามองในแง่ความสุข คือ ‘อะเวโร’ หมายความว่า ถ้าอยากเป็นสุข ก็จะมองว่า อย่าให้ใครมาจองเวรเรา มุมมองจะเป็นอย่างนี้นะ 
‘อัพยาปัชโฌ โหมิ’ แปลว่า เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ‘อัพยาปัชโฌ’ ในแง่ของเมตตาตัวเอง ถ้าอยากมีสุขก็จะประมาณว่า อย่าให้ใครมาเบียดเบียนเรา เราจงมีชีวิตปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่มีใครจองเวร ไม่มีใครเบียดเบียน นี่คือมุมมองของคนที่มุ่งจะเอาความสุข พอเจริญเมตตาตนเอง จะเป็นแบบนี้

แต่ถ้ามุ่งพ้นทุกข์นะ ขึ้นต้นคำเดียวกัน 
‘อะหัง สุขิโต โหมิ’ ก็อยากมีสุข อันนี้เป็นปกติ เป็นเหมือนความปรารถนาดี 
แต่พอบอกว่า ‘นิททุกโข’ คือพ้นทุกข์เลย ‘พ้นทุกข์’ ในที่นี้ก็คือว่า ไปให้ถึงนิพพาน หมายความว่า มันต้องมีขั้นตอนที่จะไปให้ถึงนิพพาน ขั้นตอนในระหว่างนั้นอาจจะมีสุขก็ได้เช่น ‘ทำสมาธิ’ แต่สมาธิที่ว่านี้ต้องเป็นเพียงทางผ่าน สุขในสมาธินั้นเป็นเพียงทางผ่าน และสมาธิที่ทำต้องเป็นสมาธิในแง่ว่า เป็นการ ‘เตรียมความพร้อมของจิต เพื่อให้เกิดปัญญาพ้นทุกข์’ ไม่ใช่เอาสุขจากสมาธิ ไม่ได้มุ่งเอาสุขจากสมาธิ แต่เป็นเพียงทางผ่าน ถ้ามุ่งเอาสุขเวลาทำสมาธิหรือแม้เจริญเมตตา ก็จะเอาแต่ความสุข ทำสมถกรรมฐานได้ความสุข ก็พอใจแค่นั้น สุขแล้วพอแล้ว สงบแล้วพอใจ แต่ถ้าทำสมาธิในแง่ของตั้งใจให้พ้นทุกข์ มันจะมองในอีกมุมหนึ่งว่า สมาธิที่เราทำ มันเตรียมความพร้อมให้กับจิตให้เกิดปัญญาแล้วหรือยัง ถ้ามันยังไม่เป็นการเตรียมความพร้อม แสดงว่าสมาธิของเรายังไม่ใช่ ‘สัมมาสมาธิ’

คนที่ต้องการความสุข ทำสมาธิเพียงแค่ให้มันสงบหรือให้สุขเท่านั้นเอง เพราะมันตั้งใจอย่างนั้น แล้วพอไม่สุข ไม่สงบ บางทีหงุดหงิดด้วยนะ มันผิดหวัง หวังสุขแล้วมันไม่สุข เจริญเมตตา ก็ให้ตัวเองมีความสุข ใครอย่ามาเบียดเบียนเรา ใครอย่ามาจองเวรเรา ซึ่งจริงๆ ทำไม่ได้ด้วยนะ ไปบังคับเขาไม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจไว้ว่า ‘จะพ้นทุกข์’ มันจะเป็นการเตรียมความพร้อมของจิต ‘เมตตา’ ก็เป็นการเตรียมความพร้อมของจิต มุมมองก็จะออกมาในแง่ว่า เราเองไม่เบียดเบียนใคร เราเองไม่จองเวรใคร โกรธขึ้นมาจะรู้ทัน มีกิเลสเกิดขึ้นมาจะรู้ทัน

‘ตัวกิเลส’ ทำให้จิตมัวหมอง มาเบียดเบียนจิต ไม่ได้มองว่าคนอื่นมาเบียดเบียนเรา เเต่มองว่า ‘กิเลสเบียดเบียนจิต’ มองอย่างนี้มุมมองอยากพ้นทุกข์นะ แต่ในระหว่างปฏิบัติมันจะสุข ไม่ได้อยากให้มีความสุข จุดมุ่งหมายไม่ต้องการให้แค่สุข แต่ต้องการให้ถึงพ้นทุกข์ แต่ในระหว่างปฏิบัติจะมีความสุข ไม่ปฏิเสธ ก็คือตอนที่มีกิเลสจิตมัวหมอง 
“กิเลส” แปลว่า มัวหมอง หรือเศร้าหมอง 
“จิตปกติ” ผ่องใส เป็นประภัสสร แต่หมองไปเพราะกิเลสจรมา 
“กิเลส” เป็นเพียงอาคันตุกะ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
สวนธรรมประสานสุข จังหวัดชลบุรี 
25 กุมภาพันธ์ 2567
ณ บ้านจิตสบาย

ที่มาคลิป: https://youtu.be/P5mwJ7NV_q0

#เรามาภาวนาเพื่ออะไร #เป้าหมายการปฏิบัติธรรม #สุขหรือพ้นทุกข์ #ภาวนาเพื่ออะไร #พระอาจารย์กฤช #พระอาจารย์กฤชนิมมฺโล #นิมมฺโล #บ้านจิตสบาย #รักษาศีลเพื่อพ้นทุกข์ #สมาธิเพื่อปัญญา #เมตตาที่แท้จริง #ต้องการพ้นทุกข์ #การให้ทาน #สละออก #รักษาศีล #เจริญภาวนา #พระนิพพาน #ชีวิตประกอบด้วยขันธ์5 #ไม่เที่ยง #เป็นทุกข์ #เจริญเมตตา #พระนิพพาน #สร้างเหตุแห่งความทุกข์ #มุมมองในการภาวนา #การพัฒนาจิตใจ #ทำสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมของจิต #ปัญญาเพื่อการพ้นทุกข์ #สัมมาสมาธิ #ตัวกิเลสทำให้จิตมัวหมอง #กิเลสเบียดเบียนจิต #บ้านจิตสบาย


เรามาภาวนาเพื่ออะไร…?