หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ความเพียรชอบประกอบด้วยสติ

วันที่ 27 ตุลาคม 2567  

พอหลวงปู่บอกให้ ‘ดูจิต’ หลวงพ่อก็คิดว่าจะดูจิตต้องไม่มีความคิดนึกปรุงแต่ง ก็น้อมจิตไปอยู่ในความว่าง ๆ ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แล้วคิดว่านี่ดีแล้ว ขึ้นไปกราบหลวงปู่ครั้งที่สอง เว้นระยะสามเดือน จากการที่ไปนั่งแต่งจิตให้ว่างทำอยู่สามเดือน แล้วมีเวลาขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ “หลวงปู่ผมดูจิตเป็นแล้ว”ท่านบอกจิตเป็นอย่างไร “จิตมันวิจิตรพิสดารมากนะ มันทำงานอย่างโน้นอย่างนี้ได้เยอะแยะไปหมดเลย มันปรุงแต่งได้สารพัดเลย ผมสามารถทำให้มันหยุดความปรุงแต่ง อยู่กับว่าง ๆ ได้แล้ว” หลวงปู่บอกว่า ให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่ให้ไปแต่งจิตตนเอง ไปแต่งจิตตัวเองผิดนะ ไปทำใหม่ ทำผิดแล้วไปทำใหม่ ท่านไม่พูดละเอียดขนาดนี้ ท่านพูดบอกว่า “ให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ได้ไปแต่งให้มันว่าง ไปทำใหม่ ทำผิดแล้ว” ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าโหดมากนะ ไม่สอนรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น ให้เราคลำทางเอาเอง ใครทนได้อดทนได้ คลำไปก็เข้าใจ คนไหนความอดทนต่ำ งงไปพักเดียวก็เลิกเลย ไม่เอาแล้วยุ่งยากเกินไป

หลวงพ่อฝึก ในที่สุดเราก็มารู้ทันความปรุงแต่งของจิต เราไม่ไปปรุงแต่งจิตเสียเอง อย่างเราทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้นิ่ง อันนี้เราปรุงแต่งจิต ไปปรุงมันทำไม จิตโดยตัวของมันเอง ธรรมชาติเดิมของมันประภัสสรอยู่แล้ว แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา ฉะนั้นจิตเดิมของเรา ผ่องใส สว่าง สงบ โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว มันไม่มีความสว่างมันมืดไปเพราะความปรุงแต่งมันเข้ามาครอบงำ มันไม่สงบเพราะความปรุงแต่งมันครอบงำ อยากสงบยิ่งไม่สงบ พยายามจะสงบก็ยิ่งไม่สงบ แล้วทำอย่างไรจิตเราจะกลับไปสู่สภาวะที่เป็นจิตเดิมของมัน จิตที่ประภัสสรไม่ปรุงแต่ง เราก็อาศัยสติรู้ทันเวลาจิตมันไปปรุงอะไร รู้ทันมันเข้าไป อย่างจิตมันปรุงโลภขึ้นมารู้ทัน ไม่ได้มุ่งแก้ว่าอย่าโลภนะ จิตจะโลภก็ไม่ได้ว่าอะไรมัน มันปรุงโลภขึ้นมาเรามีสติรู้ทัน ถ้าพยายามจะไม่โลภอันนี้เราปรุงเองแล้ว

ตรงความพยายามเกิดที่ไหน ความล้มเหลวอยู่ตรงนั้นเลย ที่หลวงพ่อพูดเรื่อย ๆ เมื่อก่อน คนได้ยินแล้วหัวเราะนึกว่าพูดเล่น ที่จริงพูดจริง ๆ เพราะความพยายามที่พวกเราพยายามกัน มันไม่ใช่สัมมาวายามะหรอกนะ ‘ความเพียรชอบ’ กับความเพียรอย่างที่เราคิดกัน มันคนละเรื่องกัน ‘ความเพียรชอบ มันเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น’ จะทำได้ต้องอาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บกิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว ถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมากุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไป เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น ความเพียรจริง ๆ เป็นแบบนี้ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป มันปรุงกิเลสก็รู้ทันไปนะ มันปรุงอะไรก็คอยรู้ไป ในที่สุดจิตมันก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ 

ส่วนที่นั่งสมาธิเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำแต่ไม่ได้มีสติ อันนั้นไม่ได้มีความเพียรนะ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค การทำตัวเองให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าเรามีสติอยู่แล้วเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิหามรุ่งหามค่ำ อันนั้นอนุโมทนานะ ทำดี แต่ถ้าเราสติไม่มีเเล้วฝืนเดินเครียดไปเรื่อย ๆ แล้วบอกเราปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่สัมมาวายามะ ไม่ใช่ความเพียรชอบ อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตัวเอง บังคับตัวเองนาทีหนึ่ง ก็คือทำอัตตกิลมถานุโยคนาทีหนึ่ง นี่คนนักปฏิบัตินั้นมันจะทำอัตตกิลมถานุโยคคือบังคับตัวเอง คนไม่ปฏิบัติมันทำกามสุขัลลิกานุโยค มันหลง อะไรเป็นอารมณ์ของกามก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย หรือกามธรรม การคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนี้เรียกว่ากามธรรม สิ่งเหล่านี้มันยั่วให้จิตเราไหลออกไปข้างนอก ฉะนั้นคนในโลก มันก็หลง ไม่เคยฝึกไม่เคยหัด มันก็หลงออกไปดู ไปฟัง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกปรุงแต่งทางใจ หลงไปในกาม ทำไมจิตของพวกเราไม่เคยฝึกไม่เคยหัด แล้วมันไหลไปในกาม เพราะเราเกิดในกามาวจรภูมิ ภูมิของเรามันอยู่ในกาม เพราะฉะนั้นมันพร้อมที่จะไหลไปในกามเสมอเลย เราต้องมาฝึกตัวเองใหม่ จิตหลงไปในกามนี่ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ทางสายกลาง เป็นความย่อหย่อน  พอเรารู้ว่าจิตหลงไปข้างนอก มันย่อหย่อน นักปฏิบัติก็กลับข้างเลย เพ่งเอาไว้ กลัวจะหลงก็เพ่งเอา ๆ อันนี้เป็นการทำตัวเองให้ลำบาก เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าเราอยากได้มรรคผลนิพพานจริง ๆ  เราต้องเดินในทางสายกลางให้ได้ ไม่ใช่กามสุขัลลิกานุโยคแล้วก็ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค ‘ทางสายกลาง คือการรู้สภาวะทั้งหลายตามที่มันเป็น’ รู้อย่างที่เป็น ไม่ใช่ไปแต่งมันขึ้นมา 

เคยมีเทวดาไปถามพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะหรือข้ามห้วงน้ำห้วงกิเลสได้อย่างไร ท่านบอกดูก่อนเทวดา “เราข้ามโอฆะได้เพราะเราไม่พักอยู่ แล้วเราไม่เพียรอยู่” ไม่พักอยู่ฟังแล้วเข้าใจง่าย แล้วบอกไม่เพียรอยู่ ฟังแปลก ไม่เพียรใช้ได้อย่างไร ของเราพอคิดถึงการปฏิบัติแล้วก็คิดแต่จะต้องเพียร ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักว่าการเพียรคืออะไร ‘การเพียรคือการมีสติ อ่านใจตัวเองให้ออก’ ถ้าอ่านใจตัวเองออกทันที อกุศลที่มีอยู่ดับทันที กุศลเกิดทันทีเลยในขณะนั้น นั่นน่ะคือความเพียรที่แท้จริง ไม่ใช่ชั่วโมงที่ปฏิบัติ ชั่วโมงที่ปฏิบัติอาจจะปฏิบัติถูกหรืออาจจะปฏิบัติผิดก็ได้ ถ้าไม่มีสติก็ปฏิบัติผิด บังคับตัวเอง บังคับเอา ๆ ก็ผิดนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นเราพยายามมาฝึกตัวเอง อย่าหลงไปปรุงแต่งจิต อย่างพอเราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ แล้วก็เริ่มบังคับกาย บังคับใจ พอคิดถึงการปฏิบัติ สังเกตไหม ต้องนั่งท่านี้ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรง หายใจเอาเป็น เอาตาย นั่งอย่างหลวงพ่อคูณได้ไหม นั่งได้ นั่งยอง ๆ ท่านนั่งท่านั้นแล้วท่านสบาย ให้ท่านนั่งเก้าอี้แล้วท่านเมื่อยนะ คนที่นั่งยอง ๆ จนชิน ให้ไปนั่งเก้าอี้แล้วเมื่อยเลย ให้หลวงพ่อคูณมานั่งเก้าอี้ภาวนานี่อาจจะยากนะ แต่ถ้านั่งยอง ๆ ของท่าน สติ สมาธิของท่านเกิด 

ฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ที่กิริยาท่าทางอะไรหรอก ให้เราคอยอ่านใจตัวเองไปเรื่อย ๆ ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจเราเป็นกุศล ใจเราเป็นอกุศล คอยรู้ไปเรื่อย ๆ รู้อย่างที่มันเป็น ไม่เข้าไปปรุงแต่งจิต แล้วเราจะเห็นว่าจิตนั้นน่ะ มันแอบปรุงแต่งตลอดเวลา เราไม่ได้แต่งมัน เราไม่ได้ควบคุม ไม่ได้บังคับมัน แต่ว่ามันแอบปรุงแต่ง เดี๋ยวมันก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้ทัน แล้วเราจะเห็นว่าความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา จิตนั้นโดยตัวมันเองผ่องใสเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ พระจันทร์สว่างผ่องใส แล้วพอเมฆมาใช่มั้ย พระจันทร์ก็มืดไป จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตโดยธรรมชาติมันผ่องใสอยู่แล้ว แต่พอกิเลสมันจรมา อยากปฏิบัตินี้โลภะ อยากให้จิตสงบ นี่คือโลภะ อย่างบางคนบอกว่านั่งสมาธิแล้วมีปีติมีความสุข นี่มีโลภะแล้ว อันนั้นก็อยู่ที่ว่าคนนั่งมันนั่งแบบไหน มันนั่งแบบมีโลภะหรือแบบไม่มีโลภะ

อย่างพระพุทธเจ้า ท่านนั่งสมาธิไม่มีโลภะ ท่านนั่งพักผ่อน จิตมันทำงานมาก ๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน ท่านก็นั่งพักผ่อน ท่านไม่ได้ทำด้วยโลภะ มันเหมือนร่างกายเราทำงานหนักเหนื่อยเราก็นอนพักผ่อน ทำงานไปแล้วเราหิวเราก็กินข้าว อันนี้ไม่ใช่โลภะ แต่มันเป็นความจำเป็นทางร่างกาย อย่างอยากจะไปเข้าส้วม อยากอึ เป็นโลภะไหม ไม่เป็น มันเป็นเรื่องของร่างกาย จิตนี้ก็เหมือนกัน ใช้งานมันมาก ๆ มันเหนื่อย จิตมันก็จะน้อมเข้าหาการพัก ถ้าเราไม่พามันพักมันก็พักของมันเอง วิธีที่จิตมันแอบพักของมันเอง มันแอบหลับ มันจะนั่งไป นั่งปุ๊บหลับไปเลย จิตมันอยากจะพักแล้ว ฉะนั้นถ้านั่งปุ๊บหลับปั๊บแล้วแก้ไม่ตก ก็ให้มันหลับไป พอมันหลับพอแล้ว พอตอนที่จิตมันถอนออกมา มีสติทันทีเลยนะ ตรงนั้นนาทีทองของการปฏิบัติ มีจิตขึ้นจากภวังค์นี้มีสติเลย จิตโดยตัวของมันประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา

อย่างเราโลภ อยากดี อยากรู้ อยากตื่น อยากปฏิบัติ ไม่อยากนะ คือโลภะ ปฏิบัติแล้วไม่ได้อย่างใจ หงุดหงิด อันนั่นคือโทสะ ปฏิบัติไปแล้วก็เคลิ้ม ๆ ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นโมหะ กิเลสมันอยู่ตรงนี้  มันไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่ที่จิตใจนี่เอง จิตใจไม่มีกำลังของสติคุ้มครองรักษา กิเลสก็เข้ามาย่ำยี พอกิเลสเข้ามา มันก็เหมือนเมฆมาบังพระจันทร์ มันบังตลอดกาลไหม ไม่ กิเลสเกิดได้กิเลสก็ดับได้ ไม่ใช่เรื่องต้องตกใจนะ เพียงแต่ว่าเราอย่าไปสร้างเมฆขึ้นมาเอง ทำเมฆเทียม ยิ่งบังพระจันทร์หนักเข้าไปอีก คิดว่านี่ฉลาดเต็มทีแล้ว เหมือนเอาไอน้ำมาปล่อยพ่นละอองเข้าไปเต็มฟ้าเลย ทำเมฆปลอม มองพระจันทร์ไม่เห็นอย่างนั้นใช้ไม่ได้

ตอนที่เมฆมันมาบังพระจันทร์ เราจงใจไหม เราไม่ได้จงใจ ตอนที่กิเลสมันผ่านเข้ามาให้เรารู้เฉย ๆ เราไม่ได้จงใจ แต่ถ้าเราจงใจมีเจตนาเมื่อไร ตัวนั้นคือตัวอวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารตัวนี้คือตัวเจตนาไม่ใช่ตัวอื่นเลย ฉะนั้นเจตนาที่ดี เจตนาที่ชั่ว ก็คือเจตนา พอเกิดเจตนาก็เกิดความปรุงแต่งจิต เมื่อเกิดความปรุงแต่งจิต กลายเป็นเราเข้าไปปรุงแต่ง เราไม่ได้เห็นว่าจิตมันปรุงแต่ง แต่เราปรุงแต่ง สองตัวนี้แตกต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างจิตมันปรุงแต่ง ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา แต่ตรงที่เราเข้าไปปรุงแต่งจิต อันนี้เรามีโลภะ มีตัณหาซ่อนอยู่ ก็เกิดเจตนา ฉะนั้นตัณหาก็เลยเป็นผู้สร้างภพ ภพก็เริ่มตรงที่เจตนานั่นล่ะ รู้ทันจิตตัวเองบ่อย ๆ ฝึกเรื่อย ๆ ทีแรกนาน ๆ จะรู้ตัวได้ทีหนึ่ง ไม่แปลก ฝึกเรื่อย ๆ แล้วต่อไปรู้ได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น รู้ได้ถี่ขึ้น

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ณ บ้านจิตสบาย
27 ตุลาคม 2567

#ดูจิต #ปรุงแต่งจิต #ความเพียรชอบ  #สติ #สมาธิ #กิเลส #โลภะ #สัมมาวายามะ #อัตตกิลมถานุโยค #กามสุขัลลิกานุโยค #ทางสายกลาง #ปฏิบัติธรรม #ภาวนา  #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงปู่ดูลย์ #การเจริญสติ #รู้ทันความปรุงเเต่งของจิต #วิมุตติ  #กุศล #อกุศล #จิตประภัสสร #กามาวจรภูมิ #สังขาร


ความเพียรชอบประกอบด้วยสติ