หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

การฝึกสัมมาสติ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567  

การปฏิบัติธรรมคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่การฝึกอะไรแปลกๆ สิ่งที่เราต่างกับคนที่ไม่ปฏิบัติมีนิดเดียวเอง คนปฏิบัติเขาหายใจเราก็หายใจ คนไม่ปฏิบัติกับเราก็หายใจเหมือนกัน เพียงแต่คนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติเขาไม่มีสติ เวลาเดินคนที่ไม่ได้ปฏิบัติกับเราที่ปฏิบัติมันก็เดินอย่างเดียวกัน ความต่างอยู่ที่ว่าเขาไม่ได้มีสติในการเดิน แต่เรามีสติ จะทำอะไรต่ออะไรนะ กินข้าวก็กินท่าทางเหมือนกันนั่นแหละ เอาอาหารใส่ปาก เคี้ยว กลืนเหมือนๆ กัน แต่คนไม่ได้ปฏิบัติมันไม่มีสติ มันต่างกันตรงนี้เท่านั้น

คนทั่วๆ ไปเวลากระทบอารมณ์ อารมณ์ถูกใจมีความสุข เรากระทบอารมณ์ถูกใจก็มีความสุขเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ เขากระทบอารมณ์เขามีความสุขเขาไม่มีสติ เรากระทบอารมณ์เรามีความสุขเรามีสติ คนทั่วไปเวลากระทบอารมณ์ไม่ดี ก็ไม่มีความสุขมีความทุกข์เกิดขึ้น เรากระทบอารมณ์ไม่ดีมันก็มีความทุกข์เกิดขึ้น ความต่างมันอยู่ที่ว่า เขาไม่มีสติแต่เรามีสติ คนทั่วไปเขาโกรธ เขาโกรธแล้วเขาไม่มีสติ ของเราโกรธ โกรธได้ไหม โกรธได้ ก็จิตมันจะโกรธ จิตมันเป็นอนัตตา ไม่ได้ฝึกให้มันไม่โกรธ แต่มันโกรธแล้วเรามีสติ เรารู้ ฉะนั้นจุดที่แตกหักระหว่างคนปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติก็คือ ‘มีสติหรือไม่มีสติ’

หลวงปู่มั่นท่านถึงสอนตรงเป้ามากเลย บอกว่า ‘มีสติก็มีการปฏิบัติ ขาดสติก็คือขาดการปฏิบัติ’ เพราะฉะนั้นจับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ สิ่งที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมาคือสติ ไม่ใช่พัฒนาว่าจะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร จะกำหนดจิตอย่างไร ไปกำหนดมันทำไม จิตมันเป็นอย่างไรก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตมันสุขก็รู้ จิตมันทุกข์ก็รู้ จิตมันโลภ มันโกรธ มันหลงก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ ไม่เห็นต้องไปกำหนดอะไรเลย ต้องกำหนดไหมถึงจะโกรธ กำหนดแล้วไม่โกรธได้ไหม มันทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือ ‘สติ’
หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่า ‘สติปัฏฐาน’ สติปัฏฐานนั้นเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น สติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้วเราปฏิบัติต่อไปเราจะเกิดปัญญา สติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญา รู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ววิมุตติจะเกิด มีกลุ่มสัมมาวิมุตติ วิมุตติมันเกิดจากปัญญา ปัญญาเกิดได้อาศัยสมาธิ อาศัยสติสร้างปัญญาขึ้นมา ปัญญาไม่ใช่เรื่องคิดเอา วิมุตติทำไมต้องมีสัมมาวิมุตติ เพราะมันมีมิจฉาวิมุตติ มิจฉาวิมุตติเยอะนะไม่ใช่ไม่มี อย่างพวกฤาษีนั่งเข้าฌาน เขาว่าเขาวิมุตติหลุดพ้นเหมือนกัน หลุดพ้นจากโลก แต่หมดกำลังของฌานก็วนเวียนลงมาอีก อันนั้นก็เป็นวิมุตติแบบของเขาหรือชาวพุทธเราเมืองไทยเรา วิมุตติก็วาดภาพเอาไว้พิลึก นิพพานแล้วก็เป็นโลกๆ หนึ่ง พระอรหันต์ไปนั่งเข้าแถวกันอยู่ ถ้ายังมีรูปยังมีนาม ยังไม่พ้นทุกข์หรอก อันนั้นก็วิมุตติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วิมุตติแท้ๆ ของพุทธ เป็นอุบายสอนให้คนทำดี ให้คนไม่ทำชั่ว

วิมุตติเกิดจากปัญญา ปัญญาเกิดจากเราเจริญสติปัฏฐานได้ดีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราควรจะสนใจให้มากคือสติปัฏฐาน ต้องรู้ ต้องเรียน อันนี้เป็นปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่สำคัญมากเลย มันเป็นวิธีการปฏิบัติที่ท่านประมวลรวบรวมย่อลงมา เป็นหลักปฏิบัติที่พวกเราฟังแล้วพอจะทำได้ ไม่ได้ยากเกินไป ทำอย่างไรจะเกิดสติ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนสติคืออะไร สติไม่ใช่แปลว่าไม่ได้กินเหล้าแล้วก็มีสติ ไม่ใช่ คนไม่กินเหล้าก็ไม่มีสติหรอก ถ้ามีสติก็ไม่ใช่สัมมาสติ เป็นสติพื้นๆ สติธรรมดาของชาวโลก

‘สัมมาสติ’ เป็นสติอีกชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติ นิยามเอาไว้ด้วยสติปัฏฐาน 4 ถ้าหลุดออกจากสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่สัมมาสติ ฉะนั้นเรื่องสติปัฏฐานเป็นเรื่องใหญ่ วิธีที่จะให้เกิดสติ สติอันแรกเลยต้องรู้ว่า ‘สติเป็นตัวรู้’ รู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เรียกว่ารู้ทันกาย เวทนา จิต ธรรม รู้สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง ถึงจะเป็นสัมมาสติได้ สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากการที่จิตเห็นสภาวธรรมเนืองๆ เห็นกายเนืองๆ เห็นเวทนาเนืองๆ เห็นจิตเนืองๆ เห็นสภาวธรรม ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศลเนืองๆ เห็นบ่อยๆ การที่เราเห็นบ่อยๆ นะ จิตมันจำสภาวะได้แม่น เพราะจิตมันจำสภาวะได้แม่นแล้ว พอสภาวะนั้นเกิดสติจะเกิดเอง สติที่จงใจทำให้เกิดยังไม่ใช่ของจริง สติต้องเกิดอัตโนมัติ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น เรามีหน้าที่อะไร มีหน้าที่เห็นสภาวธรรมเนืองๆ ในสติปัฏฐานท่านจะสอนให้เราเห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ

“เนืองๆ” ก็เห็นบ่อยๆ ไม่ใช่เห็นตลอดเวลานะ ไม่ใช่ตลอดเวลาห้ามคลาดสายตา ต้องเพ่ง ต้องจ้องอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ เนืองๆ คือเห็นบ่อยๆ ไม่ใช่ปีนึงเห็นหนหนึ่ง เดือนหนึ่งเห็นหนหนึ่ง วันหนึ่งเห็นหนหนึ่ง ไม่ใช่ เห็นบ่อยๆ เห็นอะไร เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม กายในกายเป็นอย่างไร ร่างกายเรานี้ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ตั้งเยอะตั้งแยะ มีอวัยวะน้อยใหญ่มากมาย ในตำราก็พูดถึงอาการ 32 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อยู่ในกาย แยกในเชิงของอภิธรรมก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แยกตามพระสูตรก็มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แยกอย่างไรก็ได้ ถ้าเราจับสิ่งที่เรียกว่าตัวเราถอดออกเป็นชิ้นๆ แยกออกมาเป็นชิ้นๆ ความเป็นตัวตนมันจะหายไป เพราะฉะนั้น อย่างเราเรียนกายในกาย เราเรียนกายในบางแง่บางมุม ไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด อันนั้นเป็นกายวิภาคให้หมอเขาเรียน เราไม่ต้องเรียน แค่เรียนพวกนั้นหมอปี 1 ก็เป็นโรคจิตไปเยอะแล้ว มันหนัก

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรที่ยุ่งยากขนาดนั้น ท่านสอนให้เรารู้กายบางอย่างเท่าที่เรารู้ได้ อย่างถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา นี่กายในกายอย่างหนึ่งนะ คือรู้ลมหายใจ รู้กายหายใจไม่ใช่รู้ลมหายใจ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก อย่างนี้เรียกว่ากายในกาย คือเรียนรู้กายที่หายใจ ไม่ต้องเรียนอย่างอื่น เรียนรู้กายที่หายใจอย่างเดียวนี่ล่ะ ถ้าเราเห็นกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา กายที่หายใจออกไม่ใช่เรา กายทั้งหมดมันก็ไม่ใช่เราแล้ว เพราะทั้งวันมันก็มีแต่กายหายใจเข้าหายใจออกนี่ล่ะ

หรือกายในกายอีกอย่างหนึ่งที่ท่านสอน เรื่องอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถหลัก ทั้งวันเราไม่ยืน ก็เดิน ก็นั่ง ก็นอน อย่างนี้สลับกันไป อย่างขณะนี้อิริยาบถของเราคือนั่ง คนทั่วไปมันนั่งแล้วมันไม่รู้ตัวว่านั่งอยู่ ของเราก็ฝึกให้มีสติรู้ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังนั่ง ตอนนี้ร่างกายกำลังยืน ตอนนี้ร่างกายกำลังเดิน ตอนนี้ร่างกายกำลังนอน รู้อย่างนี้เรียกว่าตามรู้ตามเห็นกายในกายในแง่มุมของอิริยาบถ 4 กายในกายใช่ไหม เราไม่ต้องเรียนกายทั้งตัว ไม่ใช่กายวิภาค เราเรียนกายที่หายใจออก หายใจเข้า นี่เป็นตัวที่พระพุทธเจ้ายกมาให้ ถ้าเราเห็นว่ากายหายใจออกไม่ใช่เรา กายหายใจเข้าไม่ใช่เรา กายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเราเห็นว่ากายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่เรา กายทั้งหมดก็จะไม่ใช่เรา จะเกิดความรู้รวบยอดขึ้นมาว่ากายทั้งหมดไม่ใช่เรา เราเรียนกายในบางแง่บางมุม แล้วเราก็จะเข้าใจกายทั้งหมด หรือเรารู้กายที่เคลื่อนไหว กายที่หยุดนิ่ง บางทีเรารู้สึกจะยืน เดิน นั่ง นอน มันยืน เดิน นั่ง นอนไม่มาก นั่งก็นั่งนานๆ นอนก็นอนนานๆ ทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมง มันหยาบไป ดูให้มันละเอียดขึ้น มันดูร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง เราเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลา แล้วก็หยุดนิ่งนิดเดียวก็เคลื่อนอีกแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหว เรามีสติรู้ทันว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง เรารู้ว่าร่างกายหยุดนิ่ง นี่ละคือการพัฒนาให้เกิดสติ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาฝึกทำสติปัฏฐาน

อย่างกายในกาย รู้กายบางอย่าง เวทนาในเวทนาก็เหมือนกัน เราไม่ต้องรู้เวทนาทุกชนิด เวทนาคือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้สึกสุขบางอย่างเกิดเพราะมีกามคุณอารมณ์มาล่อ บางอย่างไม่ได้อาศัยกามคุณอารมณ์ อย่างความสุขของฌานสมาบัติ เรียกว่าความสุขที่ไม่มีอามิส เราไม่ต้องเรียนละเอียดถึงขนาดนั้นหรอก เราเรียนง่ายๆ ขณะนี้สังเกตดูในร่างกายเรามันมีจุดที่มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้สึกไหมมันจะมีตรงนั้นคัน ตรงนี้ปวด ตรงนี้เมื่อย สังเกตในร่างกายดู ร่างกายมันมีความทุกข์แทรกเข้ามา เดี๋ยวตรงนั้นเดี๋ยวตรงนี้ อะไรอย่างนี้ เราจะเห็นอย่างร่างกายมันคันเรารู้ว่ามันคัน นี่แต่เดิมไม่คันเเต่ตอนนี้คัน ร่างกายมันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูแล้วนะ เราก็คันแล้วทำไง ก็เกา เกาแล้วหายคัน คนทั่วไปเวลาคันเขาทำอย่างไร เขาก็เกา ของเรานักปฏิบัติ คันแล้วทำไง คันแล้วนั่งเฉยๆ เหรอ โง่เกินไปล่ะ คันก็เกา แต่เรารู้ เห็นไหมนี่ความคันมันเกิดขึ้นมาแทรกเข้ามาในกาย เป็นทุกขเวทนาในกาย เห็นไหม เรามีความเคลื่อนไหวเพื่ออะไร เพื่อบำบัดทุกข์ในร่างกาย ร่างกายถ้าอยู่นิ่งๆ ทุกข์นะ ทุกข์จนตายเลย อย่างคนเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ นอนนิ่งๆ ไม่นานก็เป็นแผลกดทับติดเชื้อตาย เพราะฉะนั้นร่างกายมันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่ออะไร เพื่อหนีความทุกข์ ตรงนี้เป็นขั้นปัญญาแล้วนะ

ทีแรกเรารู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย ร่างกายหายใจออกรู้ ร่างกายหายใจเข้ารู้ อันนี้เราจะได้สติ ร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้ เราได้สติ ต่อไปเราจะพัฒนาสติปัฏฐานขึ้นสู่ปัญญา เราจะเห็นเลยร่างกายนี้ มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หิว เดี๋ยวมันก็หนาว เดี๋ยวมันก็ร้อน เดี๋ยวกระหายน้ำ เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ ดูลงไป เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็คัน เดี๋ยวก็เจ็บนู่นเจ็บนี่ มีสติอยู่ในกายแล้วก็จะเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่ของดีนะ กายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย พอเห็นความจริงของกายก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ เข้าโรดแม็ปอันนี้ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่มันเส้นทางเริ่มจากสติ มีสติรู้กายอย่างที่กายมันเป็น กายมันหายใจออก มันกำลังเป็นอย่างนี้ มันหายใจออกเรารู้ มันหายใจเข้าเรารู้ มันยืนเรารู้ มันเดินเรารู้ มันนั่ง มันนอนเรารู้ มันเคลื่อนไหวมันหยุดนิ่งเรารู้ รู้เรื่อยๆ บ่อยๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาจะรู้แล้วมันรู้ได้เอง

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
18 กุมภาพันธ์ 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/bgxeUNTWunk?si=nQQNY-ffi0ebxELP

#สัมมาสติ #สติปัฏฐาน #หลวงปู่ปราโมทย์ #สัมมาวิมุตติ #การฝึกสติ #อิริยาบท4 #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #ปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า #กายในกาย #เวทนาในเวทนา #จิตในจิต #ธรรมในธรรม #สติเป็นตัวรู้ #สภาวธรรม #สมาธิ #ปัญญา #วิมุตติ #ธรรมะ #การปฏิบัติ #มีสติ #ทุกข์ #การเจริญสติ #จิตจำสภาวะได้ #เห็นตามความเป็นจริง #จิตเป็นอนัตตา #รู้ความจริงของกายของใจ #บ้านจิตสบาย


การฝึกสัมมาสติ