เราต้องลงมือศึกษาปฏิบัติให้จริงจังนะ อย่าทำเป็นเล่น เวลาของแต่ละคนมีไม่มาก เวลาของเราหมดไปทุกวันๆ ครูบาอาจารย์ก็ร่อยหรอลงทุกทีนะ เมื่อ 40 กว่าปี 50 ปีก่อน สมัยหลวงพ่อออกศึกษาธรรมะ ครูบาอาจารย์ที่ดีๆ ยังมีเยอะมาก ยิ่งทางอีสานมีครูบาอาจารย์ดีๆ เต็มไปหมดเลย ถนนสายเดียววิ่งไปสักพักก็เจอ วัดนี้องค์นี้อยู่ วัดนี้องค์นี้อยู่ เดี๋ยวนี้พอผ่านไปวัดนี้องค์นี้เคยอยู่ ที่วัดนี้องค์นี้ก็เคยอยู่ มันมีแต่คำว่าเคยอยู่แล้ว ท่านไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว
สมัยก่อนหลวงพ่อเลยชอบวันหยุดนะ จะออกไปทางอีสานไม่ก็ขึ้นไปทางเหนือ ไปหาครูบาอาจารย์ทางเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนใหญ่ก็จะไปทางอีสาน ครูบาอาจารย์เยอะ ไปแล้วมันมีความสุข ไปกินข้าววัดนะ ไปภาวนาอยู่ในวัด ไปนอนอยู่ในวัด อาหารที่กินก็อาหารชาวบ้านธรรมดา น้ำพริกกับผักอะไรอย่างนี้ กินอาหารอย่างนั้นจริงๆ เราไม่ค่อยคุ้นเคย เราคนเมืองแต่เราไปอยู่อย่างนั้น เรารู้สึกมันไม่มีภาระทางใจ ใจมันสบาย มีกุฏิก็นอน ไม่มีก็ปลูกกลดอยู่ใต้ต้นไม้ เวลากลางคืนออกมาเดินจงกรมใต้แสงเดือนแสงดาว สงบวิเวก มีป่ามีเขา กลางคืนก็มีสัตว์ร้อง มีนกมีแมลงร้อง มันไม่ยั่วกิเลสเรา เราก็ภาวนาร่มเย็นเป็นสุข นี่ฝึกตัวเองมาทุกวันนะ อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย เวลาส่วนใหญ่เอาไว้เจริญสติ ถึงเวลาก็นั่งสมาธิเดินจงกรมไหว้พระสวดมนต์ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
‘การเจริญสติในชีวิตประจำวัน’ เป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะ หลวงปู่มั่นท่านเคยสอน หลวงพ่อไม่ทันท่านนะ แต่ว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านเคยเล่าให้ฟัง อย่างท่านสอนว่า “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิ ตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไหร่ จะเดินเท่าไหร่ เวลาส่วนใหญ่นี่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน หลวงพ่อภาวนาเจริญสติเป็นหลักเลย บางช่วงยังพลาดพลั้งไม่ยอมทำสมาธิ รู้สึกเสียเวลาขี้เกียจทำสมาธิ พอหลายๆ วันเข้ากำลังสมาธิไม่พอ เดินปัญญาไม่ได้จริงนะ เพราะฉะนั้นสมาธิก็ต้องทำ เวลาส่วนใหญ่ของหลวงพ่อใช้การเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อมาให้อ่านจิตตนเอง
‘การเจริญสติในชีวิตประจำวัน’ กับ ‘การอ่านจิตตัวเอง’ มันมารวมเข้าด้วยกันได้ เราสามารถปฏิบัติในชีวิตธรรมดานี่เเหละ เมื่อตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกแปลกปลอมขึ้นในใจเรา ทีแรกใจเราเฉยๆ พอตาเราเห็นดอกไม้สวยงาม ใจเราเกิดความชอบขึ้นมา ใจเรามีความเปลี่ยนแปลง เรามีสติรู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในใจเรา เวลาหูเราได้ยินเสียงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจเรา มีเสียงคนมาด่าเรา จิตใจเราเกิดโทสะขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ได้กลิ่นหอมใจเราชอบ หรือบางทีได้กลิ่นหอมแล้วใจเราเกิดสงสัย…นี่มันกลิ่นอะไร…กลิ่นดอกไม้อะไรนะ พอความสงสัยเกิดขึ้น หลวงพ่อไม่ได้ไปดูดอกไม้ หลวงพ่อดูลงไปที่จิตใจตัวเอง จิตสงสัย…เราก็เห็นความสงสัย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป บางทีได้กลิ่นอย่างนี้เหม็น ใจรำคาญ ใจไม่ชอบ รู้ลงไปที่ใจที่ไม่ชอบ
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร…ห้ามมันได้ที่ไหน ‘จิตมันเป็นอนัตตา’ บางทีเราอยากคิดแต่เรื่องดีๆ มันกลายเป็นคิดเรื่องชั่วๆ คิดเรื่องกิเลสตัณหาอะไรต่างๆ พอใจมันคิดไปในทางไม่ดี อกุศลเกิดนะ จิตเรามีน้ำหนักขึ้นมา จิตเราเศร้าหมอง อึดอัดขัดข้อง เรามีสติรู้ทันจิต โอ้…ตอนนี้จิตเราเศร้าหมองแล้ว เวลาที่จิตเราเป็นกุศลนะ เรามีสติรู้ลงไป อย่างเวลาเห็นครูบาอาจารย์นะบางทีจิตเรามีปีติ ดีใจได้เห็นครูบาอาจารย์ มีปีติ แทนที่จะไปดูแค่ครูบาอาจารย์ เราก็เห็นจิตใจมีปีติขึ้นมา จิตใจฟังธรรมไป จิตใจเรามีความสุข ไม่ได้มัวแต่นั่งฟังเพลินๆ ไป จิตใจเรามีความสุข รู้ว่ามีความสุข นี่การปฏิบัติจริงๆ สำคัญมากเลยนะตรงนี้ แล้วส่วนใหญ่ก็ละเลยกันไม่สนใจ แล้วกำหนดอะไรต่ออะไร สอนอะไรกันแปลกๆ ไป ละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
หลวงปู่มั่นบอกหัวใจของการปฏิบัติเลยนะ การมีสติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นถ้าเราอยากมีสติในชีวิตประจำวัน เราต้องฝึกตัวเอง หัดอ่านใจตัวเองให้ออก ตาเราเห็นรูป เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลเกิดอกุศล ให้เรามีสติรู้ อย่างเราเห็นผู้หญิงสวยๆ จิตเรามีราคะขึ้นมา ให้มีสติรู้ ไม่ใช่จำเป็นว่าต้องทำเฉยๆ นะ เห็นผู้หญิงสวยๆ ก็กดจิตไว้ เพ่งๆ เพ่งลงไป ไม่ให้มันมีความรู้สึกขึ้นมา นั่นไม่ใช่การเจริญสติในชีวิตประจำวันแต่เป็นการ ‘เพ่ง’ เพ่งอยู่ในชีวิตจริงๆ เลย เพ่งมากๆ ใจก็จะแข็งทื่อๆ ไป ฉะนั้นเราต้องฝึกหัดอ่านความรู้สึกตัวเองนะ ตากระทบรูปเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศลให้มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศลให้มีสติรู้ทัน เกิดที่ไหน เกิดที่ ‘ใจเรา’ จิตเราคิด เราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศลให้มีสติรู้ทัน มันยากไหมที่จะรู้ ไม่ยากแต่ละเลยที่จะรู้
อย่างเราขับรถอยู่ คนมาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธอย่างนี้นะ คนที่ไม่ได้ปฏิบัตินะมันจะไปมองรถที่ปาดเราเดี๋ยวจะไปเอาคืน ส่วนเรานักปฏิบัติเจริญสติในชีวิตประจำวัน คนเขาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธเนี่ย เราเห็นความโกรธเกิดขึ้นที่จิตใจเรา นี่อย่างนี้นะถึงจะเรียกว่าใช้ได้ ลำพังคนปาดหน้าเราแล้วเราก็ไปมองเขาเรียกว่าหลงนะ หลงไปดู เกิดพยาบาทวิตก คิดจะเอาคืนนี่พยาบาทวิตกนะ ฉะนั้นการภาวนาจะว่ายาก มันไม่ยากเลย เราไม่ได้บังคับตัวเองกดข่มตัวเอง จิตใจเราเป็นยังไงเราก็คอยรู้ไปอย่างที่มันเป็น ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย แต่จะว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย เพราะเราไม่เคยชินที่จะรู้ใจตัวเอง มันยากเพราะเราไม่เคยชินที่จะรู้เท่านั้นแหละ ถ้าหัดฝึกจนมันเคยชินที่จะรู้ การจะอ่านใจตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเลย
หลวงพ่อไม่ได้ฝึกอะไรมากมายนะ ตอนเด็กๆ ก็ทำสมาธิก็ได้แต่ความสงบ ออกรู้โน่นรู้นี่ไปเรื่อยๆ หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ มาเจอหลวงปู่ดูลย์นะ ท่านบอกให้อ่านจิตตัวเอง หลวงพ่อตามรู้ตามเห็นจิตใจ เนี่ยวิธีอ่านจิตตัวเอง ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ไม่ใช่ไปนั่งจ้องอยู่ที่จิต นั่งเฝ้าจิตดูว่าเมื่อไหร่จะมีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจเรา นั่งเฝ้าอย่างนี้ อันนั่นไม่ใช่นะ ใช้ไม่ได้เลย เมื่อไหร่เราจงใจไปนั่งเฝ้าเอา จิตมันจะนิ่งๆ ทื่อๆ แข็งๆ ไป ไม่มีอะไรให้ดูหรอก ฉะนั้นอย่าไปดักดู ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาก่อน แล้วค่อยรู้ว่าตอนนี้รู้สึกยังไง อย่าไปดักดูไว้ก่อนนะ ถ้าไปดักดูไปรอดูมันจะนิ่งๆ ไม่มีอะไรให้ดูหรอก อันนั้นไม่ใช่การอ่านจิตตนเอง แต่เป็นการบังคับจิตตนเองให้มันนิ่งๆ ไป
ต้องฝึกนะ ต้องฝึก ถ้าอ่านจิตตัวเองจนชำนาญ เราจะรู้เลยการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว เพราะเราได้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติ คือ ‘เรารู้จักจิตตัวเอง’ การปฏิบัติธรรมจริงๆ มันก็คือการฝึกจิตนั่นแหละ ไม่ได้ฝึกกาย อย่างจะเดินจงกรมนะ บางคนฝึกกายต้องเดินท่านั้นต้องเดินท่านี้ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่หรอก เราไม่ได้ฝึกโยธวาทิตนะ เดินอย่างนั้นอย่างนี้ให้สวยงามไม่จำเป็นหรอก เคยเดินท่าไหนก็เดินท่านั้น แต่ว่าจุดสำคัญ หัวใจจริงๆ ก็คือ ‘จิต’ ของเรานั่นเอง
พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านก็สอนนะ “ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตไม่ได้ธรรมะ” ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ธรรมะมันเกิดที่จิต ธรรมะมีอะไรบ้าง อกุศลธรรมรู้จัก เคยได้ยินไหม เกิดที่ไหน เกิดที่มือที่เท้าที่ท้องหรือเปล่า ไม่ได้เกิด อกุศลธรรมเกิดที่จิต กุศลธรรมเกิดที่ไหน ไม่ได้เกิดที่มือที่เท้าที่ท้อง ไม่ได้เกิดที่ลมหายใจ เกิดที่จิต มรรคผลล่ะ มรรผลก็เกิดที่จิต มรรคผลไม่ได้ไปเกิดที่ต้นไม้ ที่ภูเขา ที่แม่น้ำ หรือที่ร่างกาย มรรคผลก็เกิดขึ้นที่จิต ถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดูไปนะ รักษาจิต มีสติรักษาจิต ดูจิตไป ดูแลจิตไป จิตเป็นยังไงก็ช่างมันเถอะ แต่รู้อย่างที่มันเป็นให้ได้เท่านั้นแหละ แล้วเราจะพบว่าความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย เวลาตาเราเห็นรูป ความรู้สึกก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ใจกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ความรู้สึกมันก็เปลี่ยนในจิตใจนี้
สังเกตไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าต้องดีนะ ชั่วหรือดี ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยพูด ชั่วหรือดีก็อัปรีย์พอกัน อัปรีย์ไม่ใช่คำหยาบคายนะ อัปรีย์ตัวนี้เป็นภาษาบาลี “อปฺปิย” (อับ-ปิ-ยะ) ไม่น่ารัก ไม่น่าหวงแหนเหมือนๆ กัน ความชั่วเกิดขึ้นก็อย่าไปรักมัน ความดีเกิดขึ้นก็อย่าไปหลงมัน ท่านสอนถึงขนาดนี้นะ แต่ว่านี่เป็นคำสอนในขั้นการเจริญปัญญา ในขั้นจริยธรรมชั่วกับดีไม่เท่ากัน ชั่วนะอัปรีย์จริง ดีไม่อัปรีย์ ดีก็ปิยะ น่ารัก แต่ในขั้นเจริญปัญญาเราไม่ได้ภาวนาเอาดี เพราะดีก็ไม่เที่ยง เราไม่ได้ภาวนาเอาความสุข เพราะความสุขก็ไม่เที่ยง เราไม่ได้ภาวนาเอาความสงบเพราะความสงบไม่เที่ยง เราภาวนาให้เห็นความจริงว่าจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ตกอยู่ใต้คำว่าไตรลักษณ์ตลอดเวลานะ
เวลาเราดูจิตดูใจ ‘สามัญลักษณะ’ คือ ลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง หรือเรียกว่า ‘ไตรลักษณ์’ ชื่อจริงๆ ของมันคือ สามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม มี 3 อย่างนะ ‘ไม่เที่ยง’ ไม่เที่ยงก็คือ ของเคยมีแล้วมันไม่มี ของไม่มีแล้วมันก็มี มันไม่เที่ยง มันเป็น ‘ทุกข์’ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา อย่างความสุขเกิดขึ้น ความสุขก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย บางทีหลายคนนะเจอหลวงพ่อคุยกับหลวงพ่อเกิดปีติ ปีติถ้าเรามีสติรู้ลงไปนะ เราก็เห็นปีติถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ค่อยๆ กล่อนๆ แล้วมันก็หายไปเพราะมันก็เป็น ‘อนัตตา’ จิตเราจะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ นี่คือความจริงสามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของสิ่งที่เป็น ‘สังขาร’ ทั้งหลายก็คือ รูปธรรม นามธรรม ทั้งหลายล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมด มีสิ่งเดียวนะที่พ้นจากไตรลักษณ์ไปคือ ‘พระนิพพาน’
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
24 พฤศจิกายน 2567
ณ บ้านจิตสบาย
©มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/wORELFLasLw?si=b3dVwmV7H9NiXY9m
#การเจริญสติในชีวิตประจำวัน #การภาวนาเจริญสติ #อ่านจิตตนเอง #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงปู่ปราโมทย์ #หลวงปู่มั่น #มรรคผลนิพพาน #ภาวนา #เรามีสติรู้ทันความเปลี่ยนแปลง #กระทบสัมผัส #จิตเป็นอนัตตา #มีสติรู้ลงไป #กุศลกรรม #อกุศลกรรม #ฝึกจนมันเคยชินที่จะรู้ #หูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ #การปฏิบัติคือการฝึกจิต #ได้จิตก็ได้ธรรมะ #ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ #มีสติรักษาจิต #การเจริญปัญญา #สามัญลักษณะ #ไตรลักษณ์ #ไม่เที่ยง #ทุกข์ #อนัตตา #บ้านจิตสบาย