หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

มีสติรู้ทันจิตที่ส่งออกนอก

วันที่ 18 สิงหาคม 2567  

หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นพระที่พูดสั้น ๆ แต่คำพูดท่านแต่ละคำครอบคลุมการปฏิบัติเอาไว้เยอะมากเลย อย่างคำว่า ‘อย่าส่งจิตออกนอก’ ก็คือ ‘จิตต้องตั้งมั่น ไม่หลงไป’ ไม่ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งไม่ไหลทางใจ ไหลทางใจคือไหลไปคิด คำเดียวนี้ กว่าเราจะเข้าใจ กว่าเราจะทำได้ ใช้เวลา ท่านบอกว่าธรรมดาจิตของคนเรา มันส่งออกนอกตลอดเวลา ท่านบอกจิตมีธรรมชาติส่งออกนอก เพราะฉะนั้นการที่ท่านบอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก มันก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามออกนอก แต่หมายถึงว่า เวลาจิตมันไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไหลไปในความคิด หรือเวลาเราภาวนามันไหลไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ให้เรามีสติรู้ทัน คำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ท่านขยายความอีก ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่ถ้าจิตส่งออกนอกแล้วเรามีสติรู้เท่าทัน อันนั้นคือการเจริญมรรค ท่านสอนอย่างนี้ ไม่ได้ว่าห้ามออกนอก

คำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ท่านใช้กับลูกศิษย์บางคนชอบออกไปรู้ไปเห็นอะไรข้างนอก ไปเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นจิตคนอื่น ชอบสิ่งเหล่านี้กัน ท่านก็เลยบอกอย่าออกนอก แต่พอเราจะลงมือภาวนา ท่านกลับบอกว่า ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่ถ้าส่งออกนอกแล้วเราไม่รู้ทัน มันก็จะเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างจิตที่มันออกนอกมันไปด้วยกำลังของตัณหา มันผลักดันออกไป ตัณหาคือความทะยานอยาก ไม่ใช่อยากเฉย ๆ อยากแล้วทะยานด้วย กระโจนออกไป กระโจนไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปทำงานทางใจ จิตมันกระโจนออกไป แล้วมันก็จะปรุง ตรงที่จิตมันกระโจนออกไป เรียกว่ามันมี ‘ตัณหา’ ตัณหาก็สร้างภพ จิตมันปรุงแต่ง ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง ไม่ว่าจิตจะปรุงแต่งอะไร ผลที่ตามมาคือทุกข์ทั้งสิ้น มีภาระทางใจเกิดขึ้น เรียกว่า ‘ทุกข์’ ท่านก็เลยสอนบอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก แต่ธรรมดาจิตย่อมส่งออกนอก แต่เมื่อจิตส่งออกนอกแล้วให้มีสติรู้ทัน ตรงนั้นท่านบอกว่าคือการเจริญมรรค

จิตออกนอกคือจิตมีตัณหา สิ่งที่ตามตัณหามาคือ ‘ภพ’ คือความปรุงแต่ง ภพไม่ได้มีแต่ภพที่ชั่ว ๆ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดในภพ เพราะงั้นเราไม่ต้องกลัวความปรุงแต่งหรอก ขอให้เรามีสติเท่านั้น ถ้าเราขาดสติเมื่อไหร่ ความปรุงแต่งมันจะลากเราลงอบายไป มันปรุงชั่วไปหรือปรุงผิด ๆ ถูก ๆ ไป แต่ถ้าจิตออกนอกแล้วเรามีสติรู้ทัน ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้น เวลาจิตส่งออกไปถ้าเราไม่มีสติ กิเลสมันจะเกิด อย่างเราเห็นผู้หญิงสวย ๆ  จิตกระโจนเข้าไปใส่เขา จิตเกิดราคะ ยินดีพอใจ เห็นคนที่เราเกลียด จิตกระโจนลงไปใส่ อย่างเราขับรถอยู่คนมาปาดหน้าเรา จิตเรากระโดดไปใส่รถคันนั้นเลย นึกด่ามันในใจหรือกดแตรใส่มัน โทสะมันเกิด เพราะฉะนั้นจิตออกนอก ถ้าเราไม่มีสติ กิเลสมันจะเกิด เมื่อกิเลสเกิด ความคิดของเราก็จะเริ่มคิดชั่ว คำพูดของเราก็จะชั่ว การกระทำของเราก็จะชั่ว ก็มันผิดศีลนั่นแหละ

ในทางกลับกัน ถ้าจิตออกนอกแล้วเรารู้ทัน จิตหลงไปดูรูป รู้ว่าจิตหลงไปดูรูป จิตที่หลงไปดูรูปจะดับ จะเกิดจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา จิตหลงไปฟังเสียง แล้วเรามีสติรู้ทันว่าจิตหลงไปฟังเสียง จิตที่หลงไปฟังเสียงก็จะดับ จะเกิดจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา มันจะเกิดอย่างนั้น เมื่อนั้นตรงที่เรามีสติรู้ทัน จิตที่ส่งออกนอก จิตที่ส่งออกนอกจะดับ แล้วจะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแทน ตรงจิตออกนอกเรารู้ทัน กิเลสจะครอบงำจิตเราไม่ได้ ‘ศีลอัตโนมัติ’ จะเกิดขึ้น คนทำผิดศีล เพราะถูกกิเลสครอบงำ จิตออกนอกเรามีสติรู้ทัน จิตที่ออกนอกดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นมาแทนที่ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น เห็นไหม ตรงที่เรามีจิตออกนอกแล้วเรามีสติ ศีลก็เกิด เพราะว่าความชั่วครอบงำจิตไม่ได้ สมาธิก็เกิด จิตไหลออกไปปุ๊บรู้ปั๊บ จิตก็จะตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานออกมา แล้วต่อไปถ้าจิตออกนอกอีกเราก็รู้อีก ต่อไปปัญญามันจะเกิด มันก็จะเห็น จิตที่ออกนอกมันก็ไม่เที่ยง มันออกไปแล้วพอเรามีสติรู้ทัน มันก็ดับ ถ้าเราไม่มีสติรู้ทันมันจะดับไหม ดับ เพราะสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับทั้งสิ้น

อย่างจิตที่ไปดูรูป เราหลงดู เวลาเราดูซีรีส์สังเกตให้ดี บางครั้งเราก็มองรูป มองพระเอก มองนางเอก มองผู้ร้าย หูเราก็ฟังเสียง มันจะสลับกันอย่างรวดเร็วเลย ขณะที่ดูรูปก็ไม่ได้ฟังเสียง ขณะที่ฟังเสียงก็ไม่ได้ดูรูปแล้ว รูปมันจะเบลอ ๆ ไป แล้วก็พอฟังว่าเขาพูดอะไรกัน ใจเราก็คิด ใช่ไหม จิตที่ดูรูปเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ฟังเสียงเกิดแล้วก็ดับ กลายเป็นจิตที่คิดเกิดขึ้นแทนที่ พอเราเห็นบ่อย ๆ ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าจิตทุกชนิดไม่เที่ยง แม้จิตที่ดูรูปก็ไม่เที่ยง จิตที่ฟังเสียงก็ไม่เที่ยง จิตที่คิดก็ไม่เที่ยง จิตทุกชนิดบังคับไม่ได้ จิตจะเห็นรูป หรือจิตจะฟังเสียง หรือจิตจะคิด เราเลือกไม่ได้ อันนี้ต้องภาวนาละเอียด ๆ ขึ้นไป เราจะเห็นว่าเราเลือกไม่ได้จริง อย่างพวกเราลองทดลอง ลองเลือกสิ ลองว่าต่อไปนี้หนึ่งนาทีนี้เราจะไม่คิด ลองดูสิทำได้ไหม ไม่ต้องหนึ่งนาทีหรอก ไม่กี่วินาทีก็คิดแล้ว เห็นไหมว่าห้ามไม่ได้ ลองห้ามอีกทีสิ ไม่คิด คิดเรื่องไม่คิดเห็นไหมว่าห้ามไม่ได้ เนี่ยคือความจริง คือคำว่าอนัตตา จิตมันเป็นอนัตตา มันห้ามไม่ได้ 

การที่เรามีจิตที่ส่งออกนอกแล้วเรามีสติรู้ ศีลก็จะเกิด เพราะกิเลสจะครอบงำจิตไม่ได้ จิตส่งออกนอกแล้วเรามีสติรู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นไม่ออกนอก เพราะจิตออกนอกเนี่ย เป็นจิตที่วิ่งไปด้วยกำลังของตัณหา ตัณหามันผลัก ตัณหามันเป็นกิเลส เรามีสติรู้ทัน ตัณหาก็ดับ จิตก็ตั้งมั่น พวกเราถ้าต้องการทำสมาธิ อย่าไปคิดว่าเราจะบังคับจิตให้ตั้งมั่นได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา แล้วทำยังไง ถ้าจะทำสมาธิให้จิตได้พักผ่อน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ถนัดพุทโธก็อยู่กับพุทโธ ถนัดหายใจก็อยู่กับลมหายใจ ถนัดเดินจงกรมก็เดินไป ถนัดรู้ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้ไป แล้วจิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ อย่าไปบังคับให้สงบ เคล็ดลับอยู่ตรงนี้ ถ้าเราพยายามบังคับจิตให้สงบ จิตจะไม่สงบทันทีเลย ต้องเนียน ๆ ดูมันไปเนียน ๆ อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมันไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวมันก็สงบ ถ้าเราไปจงใจจะให้สงบ จิตจะไม่สงบนะ เพราะจิตเป็นอนัตตา จิตทุกชนิดเป็นอนัตตา จิตทุกอย่าง ดังนั้นเวลาจิตหลงเกิดขึ้น เรามีสติรู้ว่าจิตส่งออกนอก หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลไป จิตหลงไป จิตจะตื่นขึ้นโดยอัตโนมัติ บางคนจิตมันไม่ตื่น ครูบาอาจารย์ก็จะบอกให้ทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยดูอยู่ที่อารมณ์กรรมฐานอันนั้น จิตมันก็จะไหลไปรวมที่อารมณ์นั้น พอไหลไปนาน ๆ จิตมีสมาธิมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ครูบาอาจารย์ก็จะกระทุ้งให้ว่า “เฮ้ย หลงไปดูแล้ว หลงไปเพ่งแล้ว”

ยกตัวอย่าง พระอาจารย์อ๊าเรียนกับหลวงพ่อมานาน ตั้งแต่หลวงพ่อยังไม่บวช แล้วก็หัดภาวนาจนกระทั่งเห็นสภาวะที่มันไหว ๆ อยู่ในหน้าอก สภาวะที่มันไหว ปรุงอยู่ในหน้าอก มาเจอหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า “ดีแล้ว ดูไป” ดูไปเรื่อย ๆ จิตมันก็ชำนาญในการดู สมาธิมันเกิด เพราะว่ามันอยู่ในหลักที่ว่าน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง สมาธิมันจะเกิด ที่นี้ดูไหว ๆ ไปด้วยความสบายใจ สมาธิมันก็เกิดขึ้น สมาธิชนิดสงบ ถึงวันหนึ่งหลวงพ่อเห็นว่าพระอาจารย์อ๊าพร้อมที่จะเจริญปัญญาได้แล้ว หลวงพ่อก็ถามพระอาจารย์ว่า “ไปดูมันทำไม ไอ้ไหว ๆ นั่น ไปดูมันทำไม” พระอาจารย์ก็งงนะ เอ๊ะ ทุกวันก็ให้ดู ดูเห็น แล้วก็บอกว่าดี วันนี้มาถามเฉยเลยว่าไปดูมันทำไม พระอาจารย์ก็เลยกลับกุฏิของพระอาจารย์ ตอนนั้นยังไม่บวชด้วยซ้ำไป กลับไปที่กุฏิตัวเอง แล้วก็ไม่จงใจดูแล้วคราวนี้ ก็เห็นจิตมันไหลไป อย่างเห็นดอกไม้ จิตก็ไหลไปที่ดอกไม้ ขามันคัน จิตก็ไหลไปที่ขา จิตมันจะไหลไปที่ไหว ๆ ก็เห็น เห็นจิตที่ไหลไปไหลมา ทันทีที่เห็นจิตที่ไหลไปไหลมา จิตที่ทรงสมาธิ ตั้งมั่น รู้ ตื่น เบิกบาน ก็เกิดขึ้นอัตโนมัติทันทีเลย ตอนเช้ามาพระอาจารย์อ๊าก็มาบอกหลวงพ่อว่า “เข้าใจแล้วที่หลวงพ่อถามว่า ไปดูมันทำไม” ที่จริงหลวงพ่อไม่ได้ถามหรอก หลวงพ่อจะกระตุ้นให้พระอาจารย์เดินต่อ แล้วก็เดินได้ จะกระตุ้นนี่ไม่ใช่กระตุ้นส่งเดชนะ เราต้องดูว่ามีความพร้อมแล้วถึงจะบอก ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่บอก การภาวนาครูบาอาจารย์รุ่นก่อนสอนกันอย่างนี้ ไม่มานั่งบรรยายยืดยาวอย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเราหรอก พวกเราพูดตรงไปตรงมานะ อินทรีย์พวกเราอ่อน แล้วถ้าเราไม่เข้าใจแผนผัง แผนที่ของการปฏิบัติทั้งระบบ เราจะลังเล โลเลที่จะปฏิบัติ อย่างบอกให้ไปพุทโธ ทำ 2-3 วัน ก็เลิกแล้ว เพราะไม่รู้จะพุทโธไปเพื่ออะไร คนรุ่นนี้มันเป็นแบบนี้นะ มันคิดมาก หลวงพ่อถึงต้องสอนทั้งระบบเลย

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อง่าย ๆ อย่าส่งจิตออกนอก หลวงพ่อก็ไม่ใช่ว่าไปห้ามจิต เราค่อย ๆ สังเกตจิตไป ท่านบอกให้อ่านจิตตัวเอง เราก็เห็นจิตมันออกไป พอเรารู้ทัน ศีลก็เกิด สมาธิก็เกิด เนี่ยดูซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ถึงวันหนึ่งปัญญามันก็เกิด พอจิตเราตั้งมั่นได้แล้ว ตัวนี้สำคัญมากนะ คนปฏิบัติมีเป็นหมื่นเป็นแสนคนในเมืองไทย แต่หาที่จิตตั้งมั่นนับจำนวนได้ มีน้อยเต็มที มรรคผลมันถึงไม่เกิด เกิดมรรคเกิดผลไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นจิตตั้งมั่นเป็นเรื่องสำคัญ วิธีที่ให้จิตตั้งมั่น อาศัยสติรู้ทันจิตที่มันไหลไปไหลมา รู้บ่อย ๆ รู้ทันจิตที่ส่งออกนอกนั่นแหละ

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
18 สิงหาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย

©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ที่มาคลิปเต็ม:https://youtu.be/5rKDg7WELeM?si=tWF_DAjnfiomVDNr

#สติรู้ทันจิตที่ส่งออกนอก #หลวงปู่ดูลย์ #หลวงปู่ปราโมทย์ #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #ธรรมะ #การปฏิบัติธรรม #อย่าส่งจิตออกนอก #การเจริญมรรค #จิตตั้งมั่น #จิตออกนอก #สติรู้ทัน #การเจริญปัญญา #สมาธิที่ถูกต้อง #การภาวนา #มีสติ #ตัณหา #ภพ #จิตผู้รู้ #ศีลอัตโนมัติ #ศีล #สมาธิ #ปัญญา #จิตทุกชนิดไม่เที่ยง #จิตเป็นอนัตตา #สมุทัย #ทุกข์ #บ้านจิตสบาย


มีสติรู้ทันจิตที่ส่งออกนอก