หลวงพ่อหัดหายใจออก หายใจเข้าแล้วรู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วรู้สึก หัดรู้สึก ๆ การหัดรู้สึกเรื่อย ๆ จิตมันจำสภาวะได้แม่นแล้วสติจะเกิดเอง เมื่อเราได้สติมาแล้ว ไม่ว่าจะโดยรู้สึกกายหรือรู้สึกใจ เป็นจุดตั้งต้นก็ตาม สติมันก็อันเดียวกัน เส้นทางเดินอาจจะมีหลายเส้นทาง แต่รสชาติของธรรมะนั้นก็เป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น จะเดินทางกาย ทางเวทนา ทางจิต ทางธรรม รสชาติของธรรมะ รสชาติของความสงบ รสชาติของวิมุตติ ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมด แล้วแต่ความถนัด เพราะฉะนั้นถ้าเราจะฝึกสตินะ รู้ไป จนจิตมันจำสภาวะได้แม่นและสติเกิดเอง ทีแรกจำอันเดียว ถ้านามธรรมอย่างหลวงพ่อดูโกรธ ก็ดูอันเดียว โกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้ สุดท้ายมันก็รู้นามธรรมทั้งหมด รู้ร่างกายขยับมืออย่างนี้ สุดท้ายร่างกายขยับมันรู้ทั้งหมด สติมันอัตโนมัติขึ้นมา พอเรามีสติแล้ว ศีลอัตโนมัติจะเกิด สมาธิอัตโนมัติจะเกิด ปัญญาอัตโนมัติจะเกิด
อย่างถ้าเราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก พอเราโกรธใครสักคนเราจะชกหน้ามันแล้วขยับมือ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก สติเกิด ไม่ชกเขาละคราวนี้ เพราะสติเกิดแล้วโทสะดับ อาศัยรู้สึกร่างกายเคลื่อนไหวนะ ศีลก็เกิด อาศัยรู้จิตเคลื่อนไหวศีลก็เกิด พอโกรธขึ้นมาปุ๊บ เห็นความโกรธ อยากทำร้ายเขาแล้ว พอรู้ทันปุ๊บ ความโกรธดับไม่ไปทำร้ายเขา ไม่ไปด่าเขา ไม่ไปตีเขา เพราะฉะนั้นศีลอัตโนมัติจะเกิดนะ ถ้าเรามีสติ ไม่ว่าจะสติจากการฝึกเริ่มต้นรู้กายหรือสติฝึกเริ่มต้นจากการรู้จิตก็อันเดียวกัน มันจะรู้เท่าทันตัวเอง สมาธิมันก็เกิด อย่างเรารู้สึกกายไปเรื่อย ๆ เราก็เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นร่างกายหยุดนิ่ง ใจมันไม่วอกแวกไปที่อื่น ใจสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวคือร่างกายนั่นละ เราก็ได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าจะพัฒนาไปสู่สมาธิตั้งมั่น เช่น เราหายใจอยู่จิตเราหนีไปคิด รู้ทัน จิตเราไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน เราขยับร่างกายอยู่จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งร่างกาย รู้ทัน ตรงที่เรารู้เท่าทันจิตตัวเอง จิตมันก็จะไม่หลงไป ไม่ไหลไป จิตมันก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะได้จิตที่มีสมาธิชนิดตั้งมั่น
ถ้าอยากสงบ เราก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราอยากได้สมาธิชนิดตั้งมั่น เรามีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไหลไปไหลมา ไหลไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ไหลไปตามความคิด ไหลไปตามมือตามเท้า ถ้าเรารู้ว่าจิตไหลไป จิตก็จะไม่ไหล จิตที่ไหลจะดับก็จะเกิดจิตที่รู้ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา นี่คือการฝึกสติปัฏฐานนะ แล้วเราจะได้อะไรตั้งหลายอย่าง ได้สติก่อน ได้สมาธิ ได้ศีล ได้สมาธิชนิดสงบ ได้สมาธิชนิดตั้งมั่น นี่คือผลจากการที่เราฝึกเจริญสตินั่นแหละ
แล้วการเจริญปัญญาทำยังไง ขอให้มีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้น ถ้ามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้องแล้วรู้วิธีเจริญปัญญา การเจริญปัญญาจะไม่ใช่เรื่องยาก เท่าที่หลวงพ่อสังเกต พวกเราที่ฝึกใช้เวลานาน บางคนตั้ง 10 ปี 20 ปี เพื่ออะไร เพื่อให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ในตำราสอนสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วเนี่ยไม่ต้องกลัวโง่ ไม่ต้องกลัวไม่มีปัญญา ถ้ารู้วิธีนิดเดียวก็เดินปัญญาได้ หลวงพ่อฝึกตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อได้จิตที่ตั้งมั่นตั้งแต่เด็ก 10 ขวบนี่ได้แล้ว ตอนนั้นไฟไหม้ข้างบ้านแล้วตกใจก็วิ่งจะไปบอกพ่อ ก้าวที่ 1 ตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 สติระลึกรู้ความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้น จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นผู้รู้ขึ้นมา นี่ทำมาได้ตั้งแต่เด็ก ๆ นะ ฉะนั้นเวลาเจอหลวงปู่ดูลย์ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจริญปัญญา ท่านก็สอนเจริญปัญญาด้วยการดูจิตเอา
หลักของการปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์สอนไว้ ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต ถ้าดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ทำสมถะไว้ก่อน ไม่มีตรงไหนที่บอกทำไม่ได้ก็เลิกทำไปก่อน ไม่มีนะ อย่ามั่ว ทำไมว่าดูจิตได้ให้ดูจิตก่อนเลย เพราะกุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ถ้าเราเข้าถึงจิตได้ โอกาสที่จะใกล้ธรรมะมันก็ง่าย ครูบาอาจารย์สอนแล้ว ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรม เวลาเราดูจิตใจของเรา รู้จิตใจของเรา เราก็จะเห็นธรรมะคือกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง ถ้าเราภาวนาได้ดีจริง โลกุตรธรรมก็เกิดขึ้นที่จิต ฉะนั้นธรรมะทั้งหลายก็เกิดอยู่ที่ ‘จิต’ เป็นหลักเลยนะ เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาดูจิตได้ก็ดูเลย วิธีจะดูจิตก็คือเวลาเราภาวนาเราสังเกตจิตใจของตัวเอง อย่างเราพุทโธ พุทโธ แล้วจิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน พุทโธ พุทโธ จิตไปเพ่งลมหายใจแล้วรู้ทัน หรือไปเพ่งพุทโธ รู้ทัน หัดรู้ทันจิตไป ขยับมือจิตหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งมือก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อย ๆ แล้วตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันพลาดไปสองอย่างนะ อันหนึ่งมันหลงไป อันหนึ่งคือมันตึงเครียดเพ่งจ้องเกินไป ถ้าเรารู้ว่าจิตไปผิดอันใดอันหนึ่งนะ มันไม่ผิด เมื่อไหร่ไม่ผิดเมื่อนั้นมันถูกเอง จิตที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้ จงใจทำแล้วมันก็โลภแล้ว ไม่มีทางทำสำเร็จหรอก ให้เรามีสติคอยรู้ทันจิตที่มันผิด จิตที่ผิด ๆ มีสองอันเอง จิตที่หลงไปลืมกรรมฐานของเรา อีกอันหนึ่งคือจิตที่ไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐานของเรา ฝึกไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น พอตากระทบรูป ใจมันคิด ‘นี่ไม่ดีเลย นี่ศัตรูเรา’ โทสะก็เกิด เนี่ยเราเห็นกระบวนการทำงาน โทสะมันเกิดเราเป็นแค่คนดู เห็นกระบวนการที่จิตมันทำงานขึ้นมา ตรงที่เราเห็นกระบวนการทำงานมันขึ้นธัมมานุปัสสนาแล้ว แล้วแต่ แต่ละคน ถ้ามาไม่ถึงตรงนี้ก็ไม่เป็นไร ตามรู้ลงไป
อย่างถ้าบางคนดูกาย อย่างพวกเราขณะที่ฟังหลวงพ่อพูดธรรมะให้ฟัง จิตพวกเราจะมีกำลัง รู้สึกตัวไหม จิตมันจะมีแรงมากกว่าอยู่คนเดียวหรืออยู่บ้าน เมื่อจิตมันมีกำลังอย่างนี้ เรียกว่ามันมีแรงแล้ว มันมีสมาธิแล้วนะ รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ อย่าไปเพ่งมันนะ ถ้าเพ่งก็ผิดอีก ไม่ต้องเพ่ง รู้สึกเฉย ๆ ตัวนี้มันนั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้กำลังนั่ง ถ้าใครไม่รู้นี่โรคจิตแล้วนะ นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ก็แค่นั้น รู้ไหมร่างกายกำลังหายใจ ยากมั้ยที่จะรู้ว่าตอนนี้หายใจ ไม่เห็นยากตรงไหนเลย ธรรมะมันธรรมดา ๆ เราไปคิดมากยากนานนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย เราก็เห็นร่างกายมันถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่นั่งอยู่มันถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง ร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้า ล้วนแต่เป็นของถูกรู้ถูกดู ดูไปเรื่อย ๆ นะ แล้วต่อไปมันจะเห็นเลย ร่างกายไม่ใช่เราหรอก มันเป็นแค่วัตถุธาตุ เป็นสมบัติของโลก เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องคืนโลกไป ร่างกายเป็นของไม่ยั่งยืนไม่เที่ยง คิดดูสิร่างกายเรา เราตายมาตั้งเท่าไหร่แล้ว อย่างเราตายตั้งแต่เป็นทารก จากทารกเราตายไปเราก็มาเป็นเด็ก จากเด็กตายไปก็มาเป็นวัยรุ่น เกิดใหม่เป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นตายไปก็มาเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวตายไปก็มาเป็นกลางคน จากกลางคนก็มาเป็นคนแก่ เห็นไหม ร่างกายเรามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ค่อย ๆ รู้ ค่อยรู้สึก ๆ ไป อันนี้ดูแบบยาว ๆ ถ้าดูแบบใกล้ ๆ ก็เห็นร่างกายที่หายใจออกเกิดแล้วก็ตายไป ร่างกายที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ตายไป ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน แต่ละอย่าง ๆ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น มันเป็นการเจริญปัญญา ดูกายก็เห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนัตตาดูยังไง เห็นไหม ร่างกายเราสั่งอะไรไม่ได้จริงหรอก ร่างกายเป็นทุกข์คือถูกบีบคั้นตลอดเวลา ร่างกายเราสั่งว่าอย่าหิวก็ไม่ได้ อย่าร้อนก็ไม่ได้ อย่าหนาวก็ไม่ได้ อย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่ สั่งไม่ได้สักอย่างเลย อย่าแก่ก็สั่งไม่ได้ อย่าเจ็บก็สั่งไม่ได้ อย่าตายก็สั่งไม่ได้ หัดดูความจริงของมันไปเรื่อย ๆ จิตก็จะรู้ความจริง ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าดูจิตใจเราก็เหมือนกันนะ เราจะเห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ อันนี้เห็นอนิจจัง ถ้าเราทรงสมาธิขึ้นมาจิตมีสมาธิ จิตจะมีความสุข มีความสงบยาวนาน เราก็จะดูลงไปอีก เจริญปัญญาลงไป เห็นไหม จิตที่ทรงสมาธิอยู่ที่เหมือนจะเที่ยง จิตที่เหมือนจะเที่ยง เช่น มันมีปีติอยู่อย่างนั้นยาวหรือมีความสุขอยู่ยาว มีอุเบกขาอยู่ยาว ๆ เรานึกว่าเที่ยง แต่ถ้าเรามีสติตามรู้ตามเห็น เราก็จะรู้ว่ามันไม่เที่ยงเหมือนกัน เข้าสมาธิได้ก็ออกจากสมาธิได้ เข้า ๆ ออก ๆ ไม่เที่ยงหรอก มีปีติแล้วปีติก็ไม่มี มีสุขแล้วสุขก็ไม่มี มีอุเบกขาแล้วอุเบกขาก็ไม่มีอีกแล้ว อย่างนี้เราจะเห็นจิตนี้ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขนาดจิตทรงสมาธิมีความสุขทรงตัว นึกว่าจะอยู่ได้นาน สุดท้ายก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย จิตที่ทรงสมาธิก็อยู่ไม่ได้นาน เนี่ยเราเห็นทุกขังนะ ทุกขตาของจิต อนัตตตาของจิตยิ่งดูง่ายหนักเข้าไปอีก ทุกขตานี้ส่วนใหญ่ต้องทรงฌานถึงจะเห็น ถ้าไม่ได้ทรงฌานจิตมันเปลี่ยนเร็ว มันไม่ทันเห็นว่าถูกบีบคั้น มันดับไปแล้ว เกิดปุ๊บดับปั๊บ เกิดปุ๊บดับปั๊บ แต่ถ้าจิตมันทรงฌานอยู่ มันจะเกิดจิตลักษณะเดิมซ้ำกันยาว ๆ แล้วเราเห็นว่าจิตในกลุ่มนี้ จิตที่เป็นปฐมฌาน เป็นกลุ่มของจิตยาว ๆ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อาจจะหลุดออกมาไม่ได้ฌานเลย หรือขึ้นฌานที่สอง ขึ้นฌานที่แปด ข้ามไปเลยก็ยังได้นะ ถ้าจิตมันชำนาญ อันนี้ทุกขัง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย
อนัตตตา เราเห็นว่าเราบังคับจิตไม่ได้ เราสั่งจิตให้ดีได้ไหม ห้ามจิตชั่วได้ไหม อย่างเราบอกว่า ‘ไอ้คนนี้หักหลังเรามานานแล้ว ต่อไปจะมาขอคืนดี เราไม่คืนดีด้วยแล้ว จะจำ เจ็บแล้วต้องจำ’ สมมุติผู้ชายคนหนึ่ง ไปจีบผู้หญิงแล้วเป็นแฟนกันรักกันดูแลกันดี วันหนึ่งไปมีกิ๊ก เราตั้งใจว่าเราจะไม่คืนดีแล้ว พอเขามาคุยดีด้วยหน่อย อ้าวคืนดีอีกแล้ว มันบังคับไม่ได้ เราจะสั่งจิตให้มีแต่ความสุขก็ไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ เราห้ามจิตว่าอย่ามีความทุกข์ก็ไม่ได้ เราห้ามว่าอย่าโกรธก็ไม่ได้ โกรธแล้วบอกให้หายไปเร็ว ๆ ก็สั่งไม่ได้ ห้ามว่าอย่ารักก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เราสั่งได้เลยนะในจิตนี้ มันมีแต่เกิดแล้วก็ผันแปรไปตามสภาพของมัน ตามเหตุปัจจัยของมัน ตัวนี้เรียกว่าเราเห็นอนัตตานะ อย่างหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเห็นจิตเป็นอนัตตาซะส่วนใหญ่ ก็จะเห็นเราบังคับไม่ได้สักอย่างหนึ่ง จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ทำหน้าที่ของจิตไป จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แล้วมันก็ทำหน้าที่รู้อารมณ์ เราอย่าไปบอกมันว่ารู้เฉย ๆ นะ อย่ารัก อย่าโกรธ อย่าโลภบอกไม่ได้ ค่อย ๆ ฝึก สุดท้ายเราก็เห็น เกิดปัญญา ปัญญาคือเห็นไตรลักษณ์ อาศัยการเจริญสติปัฏฐาน
เบื้องแรกให้มีสติ พอมีสติแล้วก็พัฒนาเป็นศีล เป็นสมาธิ จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เราก็เดินปัญญาได้ ก็จะเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง จิตนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็เห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง เมื่อเราทำอย่างนี้มาก ๆ ต่อไปพอจิตมันเห็นความจริงมันจะเบื่อหน่าย รู้สึกร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตใจนี้ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะมันเห็นความจริง เพราะรู้ตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่คือเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เป็นเส้นทางที่อยู่ในกฎแห่งกรรม ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ ทำผิดก็ไม่ได้ ทำถูกแต่ไม่พอก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมล้วน ๆ เลยไม่มีใครช่วยใครให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้นะ กระทั่งเราจะสั่งจิตของเราให้บรรลุมรรคผลนิพพานยังสั่งไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลได้หรอกนะ จิตบรรลุมรรคผลได้เองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้ว
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
19 พฤษภาคม 2567
ณ บ้านจิตสบาย
©️ มูลนิธิสื่อธรรมหลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ที่มาคลิปเต็ม: https://youtu.be/DLm6sOtJHHU?si=C6dftBFWXH1aeZyA
หรือติดตามได้ที่ https://jitsabuy.com/
#สติปัฏฐาน #จิตจำสภาวะได้แม่น #ดูจิต #สติอัตโนมัติ #ศีลอัตโนมัติ #สมาธิอัตโนมัติ #ปัญญาอัตโนมัติ #ไตรลักษณ์ #อนิจจัง #ทุกขัง #อนัตตา #หลวงปู่ปราโมทย์ #หลวงปู่ปราโมทย์ปาโมชฺโช #หลวงพ่อปราโมทย์ #หลวงพ่อปราโมทย์ปาโมชฺโช #ฝึกสติ #เจริญปัญญา #จิตตั้งมั่น #สมาธิชนิดตั้งมั่น #สมาธิตั้งมั่น #จิตตั้งมั่นเด่นดวง #บ้านจิตสบาย