
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
รู้แจ้งในธรรมคู่แล้วจะรู้ธรรมหนึ่ง
ถ้าเราดูสภาวะอะไรไม่เป็นหลวงพ่อแนะนำให้ดูสภาวะชุดหนึ่งนะที่ดูง่าย คือ ‘ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์’ จิตทุกดวงจะต้องมีเวทนาประกอบด้วยเสมอ กระทั่งจิตที่เป็นของพระอรหันต์ มหากิริยาจิตก็ยังมีเวทนา ฉะนั้นจิตทุกดวงมีเวทนา เราหัดอ่านสิ สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ตอนนี้จิตใจเรามีความทุกข์ให้รู้ ตอนนี้จิตใจเราสุขให้รู้ ตอนนี้จิตใจเราเฉยๆ ให้รู้
จิตมีทีละดวง จิตเกิดที่ไหนจิตดับที่นั่น
ธรรมะพยายามเรียนไว้นะ ของดีของวิเศษ ในโลกไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป คนในโลกมันก็หลงต่อสู้แย่งชิงกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน เบียดเบียนกัน อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมไปอย่างหนึ่งนะว่าไม่มีอะไรที่จะได้มาจริงหรอก กระทั่งชีวิตร่างกายเราได้มามันก็ได้มาชั่วคราว ไม่นานเราก็ต้องคืนเจ้าของ ร่างกายเราก็ต้องคืนไปสู่ความเป็น ‘ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม’ ไป ‘จิต’ ก็เป็นธาตุอันหนึ่งนะ
การเจริญสติในชีวิตประจำวันคือหัวใจ
เราต้องลงมือศึกษาปฏิบัติให้จริงจังนะ อย่าทำเป็นเล่น เวลาของแต่ละคนมีไม่มาก เวลาของเราหมดไปทุกวันๆ ครูบาอาจารย์ก็ร่อยหรอลงทุกทีนะ เมื่อ 40 กว่าปี 50 ปีก่อน สมัยหลวงพ่อออกศึกษาธรรมะ ครูบาอาจารย์ที่ดีๆ ยังมีเยอะมาก ยิ่งทางอีสานมีครูบาอาจารย์ดีๆ เต็มไปหมดเลย ถนนสายเดียววิ่งไปสักพักก็เจอ
ความเพียรชอบประกอบด้วยสติ
ตรงความพยายามเกิดที่ไหน ความล้มเหลวอยู่ตรงนั้นเลย ที่หลวงพ่อพูดเรื่อย ๆ เมื่อก่อน คนได้ยินแล้วหัวเราะนึกว่าพูดเล่น ที่จริงพูดจริง ๆ เพราะความพยายามที่พวกเราพยายามกัน มันไม่ใช่สัมมาวายามะหรอกนะ ‘ความเพียรชอบ’ กับความเพียรอย่างที่เราคิดกัน มันคนละเรื่องกัน ‘ความเพียรชอบ มันเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น’ จะทำได้ต้องอาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บกิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว ถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมากุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไป เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น ความเพียรจริง ๆ เป็นแบบนี้ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป มันปรุงกิเลสก็รู้ทันไปนะ มันปรุงอะไรก็คอยรู้ไป ในที่สุดจิตมันก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ
มีสติรู้ทันจิตที่ส่งออกนอก
หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นพระที่พูดสั้น ๆ แต่คำพูดท่านแต่ละคำครอบคลุมการปฏิบัติเอาไว้เยอะมากเลย อย่างคำว่า ‘อย่าส่งจิตออกนอก’ ก็คือ ‘จิตต้องตั้งมั่น ไม่หลงไป’ ไม่ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งไม่ไหลทางใจ ไหลทางใจคือไหลไปคิด คำเดียวนี้ กว่าเราจะเข้าใจ กว่าเราจะทำได้ ใช้เวลา ท่านบอกว่าธรรมดาจิตของคนเรา มันส่งออกนอกตลอดเวลา
เจริญสติปัฏฐาน ด้วยการฝึกสติ
หลวงพ่อหัดหายใจออก หายใจเข้าแล้วรู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วรู้สึก หัดรู้สึก ๆ การหัดรู้สึกเรื่อย ๆ จิตมันจำสภาวะได้แม่นแล้วสติจะเกิดเอง เมื่อเราได้สติมาแล้ว ไม่ว่าจะโดยรู้สึกกายหรือรู้สึกใจ เป็นจุดตั้งต้นก็ตาม สติมันก็อันเดียวกัน เส้นทางเดินอาจจะมีหลายเส้นทาง แต่รสชาติของธรรมะนั้นก็เป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น
การฝึกสัมมาสติ
การปฏิบัติธรรมคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่การฝึกอะไรแปลกๆ สิ่งที่เราต่างกับคนที่ไม่ปฏิบัติมีนิดเดียวเอง คนปฏิบัติเขาหายใจเราก็หายใจ คนไม่ปฏิบัติกับเราก็หายใจเหมือนกัน เพียงแต่คนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติเขาไม่มีสติ เวลาเดินคนที่ไม่ได้ปฏิบัติกับเราที่ปฏิบัติมันก็เดินอย่างเดียวกัน ความต่างอยู่ที่ว่าเขาไม่ได้มีสติในการเดิน แต่เรามีสติ จะทำอะไรต่ออะไรนะ